ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน 195 ประเทศทั่วโลกพร้อมใจร่วมมือกันในระยะยาวเพื่อหาทางจัดการกับภาวะโลกร้อนด้วยการลงนามใน ความตกลงปารีส แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากการหยิบยกมาพูดถึงคือ อุตสาหกรรมการบิน ที่ปล่อยมลพิษทางอากาศทั่วโลก 2.5% ซึ่งบีบีซี อ้างรายงานบทวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านั้นมาก “คาร์บอน ฟุตปรินต์” จากการบินส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกมากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นระดับความสูงของเครื่องบิน หรือแนวเมฆขาวจากไอเสียเครื่องบิน และปัญหานี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ในปี 2565 มลพิษจากเครื่องบินกลายมาเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ เคสที่ผู้คนออกมาวิพากษ์ วิจารณ์เหล่าคนดังที่ใช้เครื่องบินส่วนตัวซึ่งสร้างมลพิษมากกว่าเครื่องบินพาณิชย์หลายเท่า และในสัปดาห์นี้เอง ณ ที่ประชุมองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอซีเอโอที่เมืองมอนทรีออล ของแคนาดา ตัวแทนจาก 184 ประเทศ และ 57 องค์กรทั่วโลกเห็นชอบในเป้าปณิธานระยะยาวนั่นก็คือ Net Zero 2050 หรือการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ไอซีเอโอเผยว่าเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่แค่เพื่อ อนาคตด้านการบินเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อการตระหนักรู้และความร่วมมือในระดับนานา ชาติเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

ไอซีเอโอเห็นควรให้สายการบินปรับใช้โครงการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยสารการบินใดที่ปล่อยก๊าซเกินกว่าค่ากำหนดจะต้องชดเชย ซึ่งหนึ่งในวิธีชดเชยที่ใช้อย่างกว้างขวางคือการปลูกต้นไม้ทดแทน แม้ว่าเป็นการตั้งเป้าหมายที่แน่วแน่ แต่คำถามคือจะทำได้หรือไม่ นอกจากนี้ มหาอำนาจอย่างจีนและรัสเซียต่างเซย์โนและตั้งคำถามกับเป้าหมาย Net Zero 2050 เพราะสวนทางกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศที่กำลังพัฒนา

...

กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมก็ตั้งข้อกังขาพร้อมวิจารณ์ว่า ยังไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่ชัดเจน เพราะโครงการการชดเชยคาร์บอนจะลดมลพิษได้เพียง 22% ภายในปี 2573 โดยกลุ่ม Transport&Environment ค่อนขอดว่า อย่าหลงเชื่อกับถ้อยคำขายฝันของที่ประชุมและแนะว่าควรหันมาพัฒนาเชื้อเพลิงเครื่องบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือพัฒนาเทคนิคเครื่องยนต์เพื่อให้ลดมลพิษได้จริง และ หากจะลดมลพิษทางอากาศด้วยเครื่องบินอย่างจริงจังนั้นทำได้นั้นอย่างเดียวคือ หยุดใช้น้ำมันคีโรซีน หรือน้ำมันเครื่องยนต์ไอพ่น ซึ่งยากที่จะเป็นไปได้...

อนิตตา ธิดาสิงห์