เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจ ต้องตามกระแสโลกอยู่ตลอดเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียเวลาและโอกาส ในการต้องมาปรับแก้ตามหลัง
โดยเฉพาะเพลานี้ ที่นานาชาติกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก ในเรื่อง “คาร์บอนฟุตพรินท์” การควบคุมปริมาณการปล่อยคาร์บอน สอดส่องว่าสินค้าประเภทนี้ๆ ปล่อยคาร์บอนมากน้อยเพียงใด
สาเหตุที่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะมีรายงานว่า รัฐบาล “สหรัฐฯ” และ “สหภาพยุโรป” กำลังเตรียมตัวที่จะ “เก็บภาษี” การปล่อยคาร์บอนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้ว ซึ่งทั้งคู่ก็เป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย
ทั้งนี้ คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้แจงถึงกรณีนี้ว่า มีการติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด วุฒิสภา “สหรัฐฯ” เสนอร่างกฎหมายการแข่งขันด้วยพลังงานสะอาด (CCA) ผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีคาร์บอน 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน หากการผลิตสินค้าประเภทนั้นๆปล่อยคาร์บอนเกินเกณฑ์กำหนด
โดยจะนำร่องกับสินค้าประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน ซีเมนต์ เหล็ก-เหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษ-กระดาษ และเอทานอล ภายในปี 2567 จากนั้นจะขยายครอบคลุมสินค้าสำเร็จรูปที่มีสินค้าข้างต้นเป็นส่วนประกอบในการผลิต ภายในปี 2569
ขณะที่ “สหภาพยุโรป” กำลังร่างมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) เก็บภาษีสินค้า 8 อย่าง ที่จะนำเข้ามาในยุโรป คือเหล็ก-เหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าต่างๆ ประเมินว่าจะเริ่มบังคับใช้ภายในปี 2570
มองว่าทั้งสองมาตรการมีเป้าหมายเดียวกันคือลดคาร์บอน แต่จะต่างกันตรงที่ CCA ของสหรัฐฯ จะเก็บภาษี “คาร์บอนจากส่วนที่เกินกำหนด” และบังคับใช้กับสินค้านำเข้าและสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ ส่วน CBAM ของยุโรป จะเน้นสินค้านำเข้า และจะเก็บภาษี “คาร์บอนที่เกิดขึ้นทั้งหมด” ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องเหมาะสม ที่ผู้ผลิตสินค้าไทยควรเตรียมพร้อมรับมือ ให้ความสำคัญกับการเร่ง “ปรับกระบวนการผลิต” ตลอดห่วงโซ่อุปทานให้เหมาะสม และ “จัดเตรียม” ข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนของสินค้าตัวเอง เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการส่งออกไว้ด้วย
...
ดูจากกรอบเวลา 2-5 ปีแล้ว น่าจะเตรียมตัวรับมาตรการของสหรัฐฯและยุโรปกันทันเวลา และทำตั้งแต่ตอนนี้ ก็น่าจะคำนวณต้นทุนกันได้ชัด และคงดีกว่าไปปวดหัวในภายหลังครับ.
ตุ๊ ปากเกร็ด