3 นักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ และเดนมาร์ก คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมี จากผลงานการค้นพบวิธีการเชื่อมต่อโมเลกุลที่เรียกว่า ปฏิกิริยาเคมี ‘คลิก’ และนำวิธีการนั้นไปใช้งานจริง

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ 3 คนได้แก่ ศ.แคโรลีน เบอร์ทอซซี, ศ.มอร์เทน เมลดัล และ ศ.แบร์รี ชาร์ปเลส ได้รับเลือกให้มีเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2022 จากผลงานวิจัยการเชื่อมต่อโมเลกุล หรือที่รู้จักกันในชื่อ ปฏิกิริยาเคมี ‘คลิก’ (click) ซึ่งทำให้โมเลกุลสามารถเชื่อมต่อกันเหมือนตัวต่อเลโก้

ปฏิกิริยาดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาวิธีมากมายในการรักษาเยียวยาโรคมะเร็ง และทำให้การรักษาสามารถเจาะจงไปที่เซลล์เนื้องอกได้โดยตรง ขณะที่คณะกรรมการประกาศรางวัลโนเบลระบุว่า ผลงานของพวกเขาได้เปลี่ยนแปลงวิชาเคมี ทำให้มันง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศ.ชาร์ปเลส และ ศ.เมลดัล ไม่ได้ทำการวิจัยร่วมกัน แต่ต่างเป็นผู้วางรากฐานของปฏิกิริยาเคมี คลิก โดยพวกเขาใช้หลักการเดียวกับตัวต่อเลโก้ ออกแบบโมเลกุลทางเคมีที่มีความเข้ากันได้อย่างสมบูรณ์ จนทำให้เมื่อมันมาสัมผัสกันในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มันก็จะ คลิก เข้าด้วยกันเหมือนกับตัวต่อ

อย่างไรก็ตาม ในตอนแรกปฏิกิริยานี้ยังไม่สามารถนำไปใช้ในเซลล์ที่ยังมีชีวิต ซึ่งสำคัญต่อการทำความเข้าใจโรคต่างๆ ได้ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้โมเลกุลของโลหะอย่าง ทองแดง ที่เป็นพิษต่อเซลล์เป็นสื่อกลาง จนกระทั่ง ศ.เบอร์ทอซซีค้นพบวิธีที่สามารถนำมันไปใช้กับเซลล์มีชีวิตโดยไม่ต้องใช้โมเลกุลของโลหะ โดยใช้ส่วนประกอบอื่นทำปฏิกิริยาที่เรียกว่า ‘bioorthogonal chemistry’

...

ผลงานของ ศ.เบอร์ทอซวีทำให้นักวิทยาศาสตร์ทำปฏิกิริยาทางเคมีภายในร่างกายของมนุษย์ได้ เพื่อทำให้แน่ใจว่ายาจะไปส่งผลในจุดที่ถูกต้อง และหลีกเลี่ยงจุดที่ไม่ใช่ นอกจากนั้นมันยังเป็นการค้นพบเครื่องมือทางชีววิทยา ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้พบโมเลกุลใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอยู่

ทั้งนี้ ศ.เบอร์ทอซซีจากสหรัฐฯ กลายเป็นผู้หญิงคนที่ 8 ที่คว้ารางวัลโนเบลสาขา เคมี ขณะที่ ศ.ชาร์ปเลส ซึ่งเป็นชาวสหรัฐฯ เช่นกัน ได้รับรางวัลโนเบลเป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังเคยได้ไปเมื่อปี 2544 จากผลงานการค้นพบตัวเร่งปฏิกิริยาไครัล (chiral catalysts) โดยทั้งคู่รวมถึง ศ.เมลดัล จากเดนมาร์ก จะได้รับเงินรางวัล 10 ล้านโครนาสวีเดนร่วมกัน.