ดินแดนเปอร์เซียนั้น เคยมีผู้นำระดับมหาราชเรืองนามหลายพระองค์ พระองค์หนึ่งซึ่งโลกรู้จักกันดี พระเจ้าไซรัสมหาราช (เกร็ดประวัติศาสตร์ หนังสือแกะรอยอารยะกรีก โดยคอสมอส ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ พ.ศ.2557)
พระเจ้าไซรัสมหาราช ทรงปราบราบคาบมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าลีเดีย คัลเดีย และที่สร้างชื่อพระองค์ให้ลือลั่น คือการตีกรุงบาบิลอน จากนั้นก็ขยายอาณาเขตยึดครองกว้างขวาง ตั้งแต่อินเดียจรดเมดิเตอร์เรเนียน
ทางตอนใต้ก็ปราบไปถึงอียิปต์
ประวัติศาสตร์บันทึกชัดเจน พระองค์สวรรคต เมื่อปี 529 ก่อน ค.ศ.
ก่อนสวรรคต พระเจ้าไซรัสสั่งให้สุสานเรียบๆเล็กๆ ไว้บรรจุศพพระองค์ ณ เมืองปาซาร์กาดี
มหาราชรุ่นพี่ทิ้งประจักษ์หลักฐานไว้แค่นี้ เมื่อถึงเวลา มหาราชรุ่นน้อง...พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช แห่งมาซิโดเนีย กรีธาทัพผ่านไปถึง...ก็ทรงสั่งทัพให้หยุดพัก
แน่นอน มหาราชรุ่นน้อง ควรแวะคารวะมหาราชรุ่นพี่ เสด็จไปยังสุสานเล็กๆ มหาราชเปอร์เซียผู้ยิ่งใหญ่ ทรงสั่งให้ เปิดสุสานเสด็จเข้าไปถึงโลงพระศพ
ภายในสุสาน มีความจารึกไว้ดังต่อไปนี้
“ดูกรมนุษย์ ท่านจะเป็นผู้ใดก็ตาม เราคือไซรัสมหาราช ผู้ที่ครองดินแดนอันกว้างไกล เกินกว่าเท้าจะก้าวถึง
แต่ ณ บัดนี้ เราก็มีที่อยู่เพียงแค่นี้”
มหาราชรุ่นน้องอ่านจารึกแล้วก็ทรงอึ้ง ตรัสสั่งให้เอาผ้าแพรสีดำมาคลุมโลงพระศพ แล้วสั่งปิดสุสานเอาไว้เหมือนเดิม
แต่กองทัพยิ่งใหญ่ของอเล็กซานเดอร์มหาราช เหมือนลูกศรถูกยิงออกจากแหล่งแล้ว ยังยั้งหยุดไม่ได้ ทรงมุ่งโจมตีเมืองอีสฟาฮัน เมืองที่ใกล้ที่สุดจนแตก แล้วก็รุกต่อไปตีเมืองเอสบาตานา
สองเมืองที่เพิ่งยึดได้ หลังอ่านจารึกไซรัสมหาราช... สถานการณ์แตกต่างจากเมืองอื่นๆที่ผ่านมา ไม่ทรงทารุณโหดร้าย ไม่ทำลายบ้านเมืองผู้แพ้
...
ยิ่งถ้าเป็นบ้านเมืองที่ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี...ก็ยิ่งทรงไม่ใช้วิธีรุนแรงเลย
ในขณะที่อเล็กซานเดอร์จะยกทัพกลับ...ทรงอ่านสถานการณ์ต่อมาว่า บ้านเมืองมากมายในพื้นที่ยึดครองของพระองค์ จะถูกกองทัพพวกเติร์กจะยกมาโจมตี
ทรงบัญชาการให้สร้างกำแพง...ป้องกันบ้านเมืองเหล่านั้น มีความยาวถึงร้อยไมล์ เรียกกันว่า กำแพงอเล็กซานเดอร์ถึงวันนี้ กำแพงนี้ยังเหลืออยู่ราวครึ่งหนึ่ง
วันเวลาผ่านมายาวนาน บางบ้านเมืองในเขตอัฟกานิสถาน เป็นต้นกำเนิดศิลปะคันธารราฐ พระพุทธรูปยุคแรกของโลก
อเล็กซานเดอร์มหาราช...ขยายอาณาจักรของพระองค์ยิ่งใหญ่กว่าพระเจ้าไซรัสแห่งเปอร์เซีย...
แต่สุดท้ายทรงกลับไปไม่ถึงถิ่นเกิดเมืองมาซิโดเนีย สวรรคตที่กรุงบาบิลอน
ผู้รู้คาดว่า หลังทรงอ่านจารึกมหาราชรุ่นพี่...บัดนี้เรามีที่อยู่เพียงแค่นี้...ทรงเข้าถึงความเป็นจริงของการไม่ยึดตัวตน...จึงไม่ปรากฏหลักฐาน สุสานพระองค์อยู่ ณ ที่ใด.
กิเลน ประลองเชิง