ทุเรียนจากเวียดนามลุยตลาดจีน กลายเป็นชาติ 2 ของอาเซียน ต่อจากไทย ที่ส่งทุเรียนสดไปยังจีน ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และลอตแรกกว่า 18 ตัน ถูกส่งไปถึงแล้ว
เมื่อ 21 ก.ย. 2565 สำนักข่าวซินหัวรายงาน เวียดนาม กลายเป็นประเทศอาเซียนที่ส่งออกทุเรียนสดสู่จีนภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ลำดับที่ 2 ต่อจากไทย หลังจากทุเรียนสดชุดแรก 18.24 ตัน มูลค่า 5.12 แสนหยวน (ราว 2.69 ล้านบาท) ถูกขนส่งถึงตำบลโหย่วอี้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน เมื่อวันจันทร์ (19 ก.ย.) ที่ผ่านมา
ทุเรียนจากประเทศอาเซียนนั้นได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีน ประเทศผู้ส่งออกหลักในปัจจุบัน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม ในขณะที่ เวียดนามมีฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนยาวและผลผลิตต่อปีค่อนข้างสูง ซึ่งการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามสู่จีนใช้ระยะทางสั้นกว่า ต้นทุนต่ำกว่า และมีฤดูนำเข้าต่างกับทุเรียนไทย จึงได้รับความสนใจทั้งจากผู้ค้าและผู้บริโภค
...
ถาน จวิน รองประธานบริษัท วายเอช โกลบอล ซัพพลาย เชน จำกัด (YH Global Supply Chain) ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและขนส่งทุเรียนเวียดนามรายแรก เผยว่าการนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนามได้รับการอำนวยความสะดวกจากมาตรการของด่านศุลกากรตำบลโหย่วอี้ อาทิ “ช่องทางสีเขียว” ซึ่งเกื้อหนุนการนำเข้าผลิตภัณฑ์การเกษตรสด รวมถึงระบบโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนจีน-อาเซียน ซึ่งช่วยรักษาความสดใหม่และรสชาติของทุเรียนไว้ได้ดี
การค้าผลไม้เมืองร้อนจากอาเซียน เช่น ทุเรียน มะม่วง และมะพร้าว ถือเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจภายในงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนานาชาตินครหนานหนิง เมืองเอกของกว่างซี เมื่อวันที่ 16-19 ก.ย. ที่ผ่านมา
ข้อมูลสถิติระบุว่า จีนนำเข้าผลไม้สดและผลไม้แห้งจากประเทศอาเซียนในปี 2004 คิดเป็นมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 หมื่นล้านบาท) ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.62 แสนล้านบาท) ในปี 2021 โดยมี ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และมาเลเซีย ครองส่วนแบ่งกว่าร้อยละ 60 และการบริโภคทุเรียนในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากปี 2017 เกือบสี่เท่า
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สารพัดผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างขนม เค้ก และเครื่องดื่มจากผลไม้อาเซียน อย่างทุเรียน แก้วมังกร มะม่วง และลำไย ถูกวางจำหน่ายในหลายเมืองใหญ่ของจีน เช่น กว่างโจว เซินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และหนานหนิง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน ทำให้บางบริษัทเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ ผลิตสินค้าด้วยวัตถุดิบผลไม้จากอาเซียนเพื่อขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน การสร้างแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และการบังคับใช้ความตกลงฯ นำพาการสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกันสู่ระดับใหม่ โดยจีนยินดีสนับสนุนประเทศอาเซียนเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงสู่จีน ส่งเสริมผู้ประกอบการจีนลงทุนในอาเซียน และบ่มเพาะความร่วมมืออื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต
นอกจากนั้น จีนยินดีต้อนรับรัฐบาลและผู้ประกอบการจากประเทศอาเซียนมีส่วนร่วมในงานแสดงสินค้าสำคัญ อาทิ มหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน มหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน และมหกรรมแสดงสินค้านำเข้าและส่งออกแห่งประเทศจีน พร้อมกับปรับใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนให้เกิดประโยชน์ เพื่อพัฒนาการเข้าถึงตลาดจีนยิ่งขึ้น
Cr ที่มา-ภาพ : Xinhua