ในแนวหินปูนของภูมิภาคคิมเบอร์ลีย์ ของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย มีแนวปะการังโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อุดมไปด้วยซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลสัตว์ทะเลยุคก่อนประวัติศาสตร์ รวมถึงพลาโคเดิร์ม (placoderm) เป็นกลุ่มปลายุคก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดแรกที่พัฒนากรามขึ้นเมื่อกว่า 400 ล้านปีก่อน เจริญรุ่งเรืองที่สุดในยุคดีโวเนียนช่วง 419–359 ล้านปีก่อน แต่สูญหายไปในช่วงท้ายเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่

ล่าสุด ทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน ในออสเตรเลีย เผยการศึกษาใหม่เกี่ยวกับฟอสซิลปลาตระกูลอาร์โทรไดร์ (Arthrodire) ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 358 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นประเภทของพลาโคเดิร์มที่พบในทศวรรษ 1940 ทีมพบว่า อวัยวะหลายส่วนถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในรูปทรง 3 มิติ ทั้งหัวใจ ตับ กระเพาะอาหาร และลำไส้ โดยระบุว่า หัวใจ 2 ห้องของปลามีอายุราว 380 ล้านปี ปลาที่มีกรามเหล่านี้แสดงถึงวิวัฒนาการที่ก้าวกระโดดไปสู่แบบแผนของร่างกายที่มีอยู่ในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ในปัจจุบันรวมถึงมนุษย์ ซากนี้ได้เปิดเผยประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของหัวใจของปลาได้แยกออกจากอวัยวะอื่นๆ มาอยู่ติดใกล้กับกรามที่พัฒนาขึ้นใหม่ นั่นหมายความว่ามีความซับซ้อนมากมายเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์เรา ในฐานะที่เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีกราม

...

ลำไส้ของปลาโบราณตัวนี้มีลักษณะเป็นเกลียวเหมือนขนมปังอบ กระเพาะอาหารมีชั้นกล้ามเนื้อและชั้นของต่อมบ่งชี้ว่าปลาใช้น้ำย่อย มีตับ 2 แฉกขนาดใหญ่ที่อาจช่วยให้ปลาลอยได้แบบเดียวกับตับฉลามในปัจจุบัน.