โครงการศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ม.ธรรมศาสตร์ เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย พูด ‘นวัตกรรมการจัดการบริหารสาธารณะของท้องถิ่น’ 13.00-16.00 น. พุธวันนี้ ให้หลักสูตรนายกเทศมนตรี รุ่นที่ 8 ที่สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

มีการพูดโจมตีรัฐบาลจีนตอนเริ่มโครงการอวกาศว่า ผู้คนแทบไม่มีจะกินอยู่แล้ว ยังใช้เงินไร้สาระกับโครงการส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ ผมอธิบายให้ผู้โจมตีฟังว่าบนดวงจันทร์และดาวเคราะห์ดวงอื่นในบรมจักรวาลมีแร่อีกมากมายหลายอย่างที่หาไม่ได้ในโลก แร่ธาตุประหลาดเหล่านั้น รัฐบาลจีนสามารถนำมาใช้สร้างความสะดวกสบายให้กับมนุษย์ได้

เรื่องนี้เหมือนสมัยก่อนตอนที่มีคนกลุ่มหนึ่งบุกป่าฝ่าดงไปอาศัยอยู่กับชนเผ่าใจกลางทวีปแอฟริกา หลายคนโจมตีว่าไปเที่ยว ทว่าสิ่งที่ได้กลับมาคือคอรันดัมที่มีทั้งไพลิน ทับทิม นอกจากนั้นยังมี เพอริดอท เพทาย ทัฟไฟท์ ไคยาไนท์ ฯลฯ ซึ่งอัญมณีเหล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งนำมาใช้เป็นเครื่องประดับและวงการอุตสาหกรรม

หลายประเทศลงทุนสำรวจมหาสมุทรในเขตทะเลหลวง คนที่ไม่เข้าใจก็โจมตี ที่ไหนได้ ต่อมาโครงการเหล่านั้นหาประโยชน์ได้มากมายจากแร่ธาตุสำคัญใต้พื้นทะเล เรื่องนี้ทำให้นึกถึงโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีนซึ่งขณะนี้ผ่านมาแล้ว 3 ระยะ

ระยะที่ 1 โคจรรอบดวงจันทร์ ตอนนั้น ค.ศ.2007 องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ส่งยานฉางเอ๋อร์ 1 (ฉางเอ๋อร์หมายถึงเทพธิดาดวงจันทร์) โคจรรอบดวงจันทร์ที่ระยะความสูง 200 กิโลเมตร ค.ศ.2010 ก็ส่งฉางเอ๋อร์ 2 โคจรที่ความสูงจากผิวดวงจันทร์ 100 กิโลเมตร พวกฝรั่งมังค่าเห็นยานฉางเอ๋อร์แค่โคจรรอบดวงจันทร์ก็หัวเราะกันจนฟันกระเด็นออกมานอกปาก

แต่เสียงหัวเราะค่อยจางหายไปใน ค.ศ.2013 เมื่อ CNSA เข้าสู่การสำรวจดวงจันทร์ระยะที่ 2 ด้วยการส่งฉางเอ๋อร์ 3 ลงจอดบนดวงจันทร์ พร้อมปล่อยหุ่นยนต์ Yutu-1 (Jade Rabbit-1) ฉางเอ๋อร์ 3 เป็นยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกที่ทำงานบนดวงจันทร์ได้นาน 2 ปีกว่า

...

ค.ศ.2018 CNSA ส่งยานฉางเอ๋อร์ 4 พร้อมหุ่นยนต์ Yutu-2 ลงบนพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ในบริเวณที่เรียกว่าปล่องฟอน คาร์มาน ซึ่งเป็นหลุมที่ลึกที่สุด กว้างที่สุด และเก่าแก่ที่สุดบนดวงจันทร์ นี่เป็นความสำเร็จครั้งแรกแห่งมนุษยชาติในการสำรวจด้านไกลของดวงจันทร์

ทุกวันนี้ CNSA ทำงานสำรวจดวงจันทร์ระยะที่ 3 ด้วยการปล่อยฉางเอ๋อร์ 5 เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2020 ลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อ 1 ธันวาคม 2020 พอวันรุ่งขึ้นก็เก็บวัตถุบนดวงจันทร์ และกลับถึงโลกเมื่อ 17 ธันวาคม 2020

2 วันที่ผ่านมา สถาบันวิจัยธรณีวิทยายูเรเนียมปักกิ่งแห่งบริษัทนิวเคลียร์แห่งชาติจีนเปิดเผยรูปทรง 3 มิติที่ได้จากการซีทีสแกนอนุภาคจริงของแร่ชนิดใหม่ที่มีชื่อว่าฉางเอ๋อร์ไซต์–(วาย) CNSA และสำนักงานพลังงานปรมาณูแห่งประเทศจีนแถลงยืนยันแล้วครับ ว่าคณะนักวิทยาศาสตร์จีนค้นพบแร่ธาตุชนิดใหม่ให้กับมวลมนุษยชาติ โดยฉางเอ๋อร์ 5 ไปเก็บมาจากดวงจันทร์ มีการทำนายทายทักว่าแร่ธาตุชนิดใหม่จากดวงจันทร์จะสร้างนวัตกรรมใหม่ให้โลก ผมเชื่อว่าจีนเป็นประเทศเดียวที่รู้ฤทธาพลานุภาพแห่งแร่ชนิดนี้

100 ปีที่ผ่านมา มนุษย์เริ่มรู้จักและชินคำว่าสนามบินหรือท่าอากาศยาน ขณะนี้จีนมีท่าอวกาศยานจิ่วถวนที่มองโกเลียใน
ท่าอวกาศยานไท่หยวนที่มณฑลชานซี ท่าอวกาศยานซีชางที่มณฑลเสฉวน และท่าอวกาศยานเหวินชางที่มณฑลไห่หนาน

จีนเตรียมส่งดาวเทียมอีกหลายดวงเพื่อศึกษาค้นคว้าและหาคำตอบในเรื่องสำคัญแห่งอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นสสารมืด กลศาสตร์ควอนตัม หลุมดำ การศึกษาทางชีววิทยาและวัสดุศาสตร์ในสภาพไร้น้ำหนัก และการศึกษาสิ่งมีชีวิตในอวกาศ

จีนเป็นตัวอย่างของชนชาติที่มุ่งมั่นพัฒนาท่ามกลางความดูหมิ่นถิ่นแคลนของโลกตะวันตก วันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าจีนทำได้ และทำได้ดีกว่าอีกหลายประเทศเสียด้วย.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com