นักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนด้วยความกังวล ธารน้ำแข็งทเวตส์ (Thwaites Glacier) หรือรู้จักในอีกชื่อว่า ‘ธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก’ ทางตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติกา “กำลังละลายและเกิดการถอยร่นอย่างรวดเร็ว” กว่าที่เคยมีการคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า เนื่องจากภาวะโลกร้อน จนทำให้ขณะนี้สถานการณ์ของธารน้ำแข็งทเวตส์ เสมือนกับกำลัง ‘เกาะพื้นดินด้วยปลายเล็บ’ เท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าหากไม่มีธารน้ำแข็งทเวตส์และแผ่นน้ำแข็งอยู่ในบริเวณนั้นอีกต่อไป อาจทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 3-10 ฟุต (หรือประมาณกว่า 0.9-3 เมตร) ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล เพราะธารน้ำแข็งทเวตส์ จัดเป็นธารน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่มาก มีพื้นที่กว่า 74,000 ตารางไมล์ หรือใหญ่เกือบเท่าประเทศอังกฤษ และเป็นหนึ่งในธารน้ำแข็งที่มีความสำคัญที่สุดของทวีปแอนตาร์กติกา
การศึกษาวิจัยล่าสุดถึงสถานการณ์ของธารน้ำแข็งทเวตส์ ในทะเลอามันด์เซน ได้ถูกนำมาตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Geoscience เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ก.ย. 2565 ระบุว่า ธารน้ำแข็งทเวตส์ หรือธารน้ำแข็งวันสิ้นโลก กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีการละลายอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า โดยกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำในระดับลึกที่นำความร้อนสามารถไหลเข้าไปใต้ธารน้ำแข็งทเวตส์ได้มากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า ธารน้ำแข็งทเวตส์ได้เกิดการถอยร่นหลุดจากการยึดเกาะกับ ‘กราวด์โซน’ หรือพื้นดินบริเวณธารน้ำแข็งทเวตส์ ในอัตราที่เข้าใกล้กว่า 2 กิโลเมตรต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วกว่าการสังเกตการณ์จากภาพถ่ายดาวเทียมระหว่างปี 2011-2019
โรเบิร์ต ลาร์ตเนอร์ นักวิทยาศาสตร์จาก British Antarctic Survey กล่าวเตือนว่า ‘วันนี้ธารน้ำแข็งทเวตส์กำลังเกาะกับพื้นดินด้วยปลายเล็บจริงๆ และพวกเราควรจะมองถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากกว่าการเปลี่ยนแปลงแค่ระดับเล็กๆ ในอนาคต’
...