เป็นที่ทราบกันดีว่า สงครามรัสเซีย–ยูเครน ส่งผลกระทบต่อ ราคาพลังงาน ไปทั่วโลก เดือดร้อนกันทั่วหน้า ไม่ยกเว้นแม้แต่ ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือมีแหล่งพลังงานเป็นของตัวเอง การขาดแคลนพลังงานในขณะที่มีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและฤดูกาล เป็นวิกฤติที่ซ้อนวิกฤติ มีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้อยเต็มที

มาตรการประหยัดพลังงาน ที่ใช้กันในหลายประเทศเวลานี้ ยกตัวอย่าง อิตาลี มีการประกาศแผนการประหยัดพลังงานในสภาวะ ฉุกเฉิน ให้เปิดเครื่องทำความร้อนที่อุณหภูมิ 19 องศาในฤดูหนาวที่จะถึงนี้ ส่วนฤดูร้อนให้เปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิ 27 องศา ลดการเปิดไฟฟ้าริมถนนในเวลากลางคืน ให้ปิดร้านค้าก่อนเวลาปกติ ซึ่งคำนวณแล้วว่าการลดอุณหภูมิความร้อนของฮีตเตอร์ภายในอาคารลง 1 องศา จะประหยัดพลังงานได้ถึง 2 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

โปแลนด์ เป็นประเทศที่นำเข้า ก๊าซจากรัสเซีย โดยตรง ขาดแคลนทั้งก๊าซทั้งถ่านหินที่จะนำมาผลิตไฟฟ้า รัฐเลยต้องมีมาตรการให้เงินอุดหนุนชาวบ้านในการนำไปติดตั้งระบบฉนวนในบ้านที่จะทำให้ระบบทำความร้อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฝรั่งเศส ยิ่งหนัก ตั้งเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2019 เนื่องจากราคาไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ห้ามเปิดใช้ป้ายโฆษณาที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 01.00-06.00 น. และใช้แอร์อย่างประหยัด

เยอรมนี ก็เช่นกัน กำหนดให้อาคารสาธารณะเปิดเครื่องทำความร้อนที่อุณหภูมิ 19 องศา บริเวณโถงทางเดินห้ามเปิดเครื่องทำความร้อน ระบบทำความร้อนในสระว่ายน้ำก็ห้ามเปิด สเปน ออกมาตรการให้ธุรกิจต่างๆ ลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไม่ต่ำกว่า 27 องศา ในฤดูร้อน เปิดเครื่องทำความร้อนไม่เกิน 19 องศาในฤดูหนาวเช่นกัน หลัง 22.00 น.ไปแล้วขอให้ลดการใช้ไฟฟ้าลง

...

แม้แต่จีนเองก็มีการรณรงค์ประหยัดพลังงานกันแล้ว เมืองเฉิงตู แหล่ง ท่องเที่ยวสำคัญสั่งปิดไฟตกแต่งภูมิทัศน์นอกอาคาร ระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ป้ายชื่ออาคารต่างๆ มีการปิดเปิดเป็นเวลา สั่งดับไฟในตึกสูง กระทบกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจีนกำลังจะขาดแคลนพลังงานที่มีความต้องการใช้มากขึ้นด้วย

รัฐบาลญี่ปุ่น อินเดีย มีนโยบายประหยัดพลังงานออกมาถี่ขึ้น ถึงจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใช้อยู่ก็ตาม อินเดีย ตั้งเป้าที่จะประหยัดไฟฟ้าได้ 120,000 รูปี ภายในปี 2573 โดยจะลดการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 3 แสนล้านหน่วย

ส่วนอินโดนีเซีย ซึ่งถือว่ามีแหล่งพลังงานมากเป็นอันดับ 4 อันดับ 5 ของโลกก็ยังมีมาตรการด้านพลังงานออกมา โดยจะตัดเงินสนับสนุนราคาพลังงานออกไป จำนวน 24.17 ล้านล้านรูเปียห์ หรือ 1.62 พัน ล้านดอลลาร์ เพื่อเอางบที่สูญเปล่าเหล่านี้ไปใช้ในโครงการทางด้านสวัสดิการสังคมช่วยคนที่เดือดร้อนโดยตรง สิงคโปร์ใกล้ๆบ้านเราไม่ต้องพูดถึง หันมาใช้เทคโนโลยีในการช่วยประหยัดพลังงาน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หลอดประหยัดไฟ มาตรการติดตั้งระบบทำความเย็นแบบศูนย์รวม ตั้งเป้าในปี 2573 จะลดการใช้พลังงานร้อยละ 15 นาทีนี้ มาตรการประหยัดพลังงานดีที่สุด.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th