ไม่มีพลิกล็อก นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษได้รับเลือกจากสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟทั่วประเทศเป็น หัวหน้าพรรคคนใหม่ และเป็น นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของสหราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2565 โดย นางลิซ ทรัสส์ ได้รับเลือก 81,326 คะแนน ชนะ นายริชี ซูนัค อดีตรัฐมนตรีคลัง ที่ได้เพียง 60,399 คะแนน สาเหตุหลักที่ทำให้ ริชี ซูนัค แพ้การเลือกตั้งในพรรค ทั้งที่ชนะโหวตจาก ส.ส.ในสภา สำนักข่าวอังกฤษรายงานว่า เป็นเพราะสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมอังกฤษรู้สึกไม่ปลื้ม หากมีนายกฯคนต่อไปมาจากเชื้อสายอื่นที่ไม่ใช่อังกฤษ ซึ่ง นายซูนัคมีเชื้อสายอินเดีย สะท้อนถึงการเหยียดผิวในอังกฤษยังมีอยู่ไม่ต่างไปจากสหรัฐอเมริกา
แต่เส้นทางนายกฯอังกฤษของ นางลิซ ทรัสส์ กลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
YouGov บริษัทวิจัยชื่อดังได้สำรวจความคิดเห็นชาวอังกฤษหลังจากที่ นางทรัสส์ ได้เป็นนายกฯคนใหม่ พบว่า ชาวสหราช อาณาจักรส่วนใหญ่กว่าครึ่งที่รู้สึกผิดหวังอย่างมาก ชาวสหราชอาณาจักร 67% รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยต่อความสามารถของทรัสส์ในการบริหารจัดการกับวิกฤติค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงถึง 10.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี และ ชาวอังกฤษ 40% ตอบว่าไม่มีความเชื่อมั่นใดๆเลยกับศักยภาพของนายกรัฐมนตรีคนนี้ โดยในภาพรวมของผลการสำรวจ ชาวอังกฤษ 40% เชื่อว่า นางลิซ ทรัสส์ ก็ไม่ต่างจากนายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกฯ ที่ถูกสภาผู้แทนกดดันจนต้องลาออกไป
อนาคตข้างหน้าของ สหราชอาณาจักร ดูริบหรี่สิ้นหวังเต็มที
ในแง่ผลกระทบระหว่างประเทศจาก นโยบายต่างประเทศ ของ นางลิซ ทรัสส์ นายกฯใหม่อังกฤษ สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า นางทรัสส์ ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลชุดนี้ มีนโยบายชัดเจนว่า ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องคว่ำบาตรรัสเซียต่อไปจนกว่ารัสเซียจะยอมถอนทหารออกจากยูเครน ชาติตะวันตกต้องสนับสนุนยูเครนให้มากและเร็วขึ้น เพื่อต้านการรุกรานของรัสเซีย รัสเซียจะต้องไม่ชนะในสงครามนี้ ในแง่ ความสัมพันธ์กับจีน นั้น นางทรัสส์ ก็มีนโยบายชัดเจนว่า ต้องป้องกันไม่ให้สิ่งที่เกิดขึ้นกับยูเครนเกิดขึ้นกับไต้หวัน ชาติตะวันตกต้องทำให้แน่ใจว่าไต้หวันจะสามารถปกป้องตัวเองจากการรุกรานของจีน
...
จะเห็นว่า นางทรัสส์เธอก็จุ้นจ้านแต่เรื่องนอกบ้าน เหมือน นายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เป็นห่วงยูเครนถูกรัสเซียรุกราน เป็นห่วงไต้หวันจะถูกจีนรุกราน แต่กลับไม่เป็นห่วงชาวอังกฤษ 50 กว่าล้านคนที่กำลังทุกข์ยากสาหัส จากนโยบายทำสงครามและการควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ส่งผลให้ราคาพลังงานแพงลิ่วจนทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี
วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เมื่อเข้าฤดูหนาวแล้ว รัสเซียยังไม่ส่งก๊าซเข้ายุโรป ครัวเรือนอังกฤษต้องจ่ายค่าพลังงานแพงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80% ก็ต้องดูต่อไปว่า นางทรัสส์ นายกฯใหม่อังกฤษสายเหยี่ยว จะสามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนราคาพลังงานให้กับชาวอังกฤษได้หรือไม่ หากไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของคนในประเทศได้ คงได้เห็นชาวอังกฤษเดินขบวนขับไล่นายกฯหญิงคนใหม่เหมือนหลายประเทศในยุโรป
วันนี้ ยุโรปสปริง เกิดขึ้นแล้วหลายประเทศในยุโรปที่ทำตัวเป็น ลูกสมุนสหรัฐฯ ทุ่มเงินทำสงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้ประชาชนในประเทศตัวเองเดือดร้อนกันแสนสาหัส แต่แก้ไขไม่ได้
การเลือกนายกฯอังกฤษ ในครั้งนี้มีประเด็นน่าสนใจคือ ผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรค และเป็น นายกรัฐมนตรี ต้อง เป็น ส.ส.และได้รับเลือกจาก ส.ส.ในพรรคจนเหลือ 2 คน ผู้สมัครต้องมีการดีเบตแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศราว 160,000 คน ลงคะแนนเลือกตั้งรอบสุดท้าย ใครชนะก็ได้เป็น หัวหน้าพรรค ได้เป็น นายก รัฐมนตรี เป็นกฎกติกาที่ยุติธรรม โดยไม่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเอื้อบางคนแบบเมืองไทย ไม่ต้องเป็น ส.ส. ไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน แต่เป็นนายกฯได้ เป็นครบแล้วยังไม่ยอมลงจากเก้าอี้อีก ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”