ซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลที่เป็นหลักฐานการวิวัฒนาการของไดโนเสาร์ยุคแรกๆ โดยเฉพาะจากยุคไทรแอสสิก (Triassic) นั้นหายาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็มีการค้นพบฟอสซิลจากยุคดังกล่าวในอเมริกาใต้ อินเดีย และล่าสุดก็คือพบในซิมบับเว
ทีมนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติ นำโดยนักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบันโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย หรือเวอร์จิเนีย เทค ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ได้ค้นพบซากฟอสซิลโครงกระดูกไดโนเสาร์จากยุคแรกๆ ตัวใหม่ และส่วนใหญ่ของโครงกระดูกนี้ ไม่บุบสลายอย่างเหลือเชื่อ ถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักศึกษาบัณฑิตศึกษาในแผนกธรณีศาสตร์แห่งเวอร์จิเนีย เทคและนักบรรพชีวินวิทยาคนอื่นๆ ในช่วงที่มีการสำรวจ 2 ครั้งในปี พ.ศ.2560 และ 2562 ที่หุบเขาแซมบีซี ใกล้พรมแดนซิมบับเว ทีมนักบรรพชีวินวิทยาตั้งชื่อไดโนเสาร์ตัวนี้ว่า Mbiresaurus raathi โดยระบุว่าสูงราว 1 เมตร วิ่งด้วย 2 ขา มีคอยาว ฟันเป็นหยัก และอาจเป็นไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบในแอฟริกา โดยเชื่อกันว่าอาศัยในอนุยุคคาร์เนียน (Carnian) เมื่อประมาณ 230 ล้านปีก่อน ที่อยู่ในช่วงปลายยุคไทรแอสสิก ซึ่งซิมบับเวในช่วงเวลานั้นเป็นส่วนหนึ่งของมหาทวีปแพนเจีย (Pangaea)
...
ทั้งนี้ไดโนเสาร์ในยุคแรกๆอย่าง Mbiresaurus raathi แสดงให้เห็นว่าวิวัฒนาการในยุคแรกๆของไดโนเสาร์นั้นซับซ้อนกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้มาก การค้นพบนี้คาดว่าจะให้ความกระจ่างเกี่ยวกับวิวัฒนาการและการอพยพของไดโนเสาร์ยุคแรกๆมากขึ้นนั่นเอง.