“สงครามกองโจรเต็มไปด้วยความเหนื่อยล้าและยากลำบาก แต่การปกครองบริหารบ้านเมืองเป็นเรื่องที่ยากกว่าการสู้รบ สงครามเป็นเรื่องง่าย เพราะความรับผิดชอบน้อยกว่ามาก”

ประโยคนี้เป็นคำกล่าวอย่างตรงไปตรงมาของ “ไอนุดดิน” อดีตพลแม่นปืนสไนเปอร์กรำศึกของกองกำลังติดอาวุธ “ตาลีบัน” ซึ่งปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการกรมที่ดินและการพัฒนาชุมชนในจังหวัดบัลค์ ทางภาคเหนือของอัฟกานิสถาน ก่อนหน้าวันที่ 15 ส.ค. หรือวันครบรอบ 1 ปี การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลตาลีบัน อัฟกานิสถาน ภายหลัง “กองทัพสหรัฐอเมริกา” ถอนกำลังทหารทั้งหมดอย่างเป็นทางการ

เป็นเวลา 1 ปีแล้ว ที่กองกำลังติดอาวุธตาลีบันกลายเป็นหน่วยงานบริหารจัดการอัฟกานิสถานภายใต้กฎเหล็ก ความสงบเรียบร้อยนำสิทธิเสรีภาพและศาสนานำการเมือง ท่ามกลางความฉงนของเหล่าชาติตะวันตก ซึ่งเมื่อปีก่อนประเมินไว้ว่า กลุ่มติดอาวุธ ขุนศึก จะลุกฮือชิงอำนาจ

เรื่องนี้มีนักวิเคราะห์ความมั่นคงและนโยบายต่างประเทศอธิบายเกี่ยวกับ “อัฟกานิสถาน” ในช่วงเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาไว้อย่างน่าสนใจว่า การล่มสลายอย่างสิ้นเชิงของรัฐบาลหุ่นเชิดอัฟกานิสถานและกองทัพ ส่งผลให้รัฐบาลตาลีบันอยู่ในสภาพไร้การต้านทาน สามารถใช้กำลังแบบกำปั้นทุบและการข่มขู่ในการรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งในหลายพื้นที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากชาวบ้าน

เพราะถึงจะเป็นการปกครองด้วยความกลัว แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าสมัยก่อนที่ไม่รู้ว่าจะระเบิดลงเมื่อไร หรือถูกลูกหลงจากการปะทะระหว่างตาลีบันกับตะวันตกและรัฐบาลหุ่นเชิดหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ถึงภายนอกจะดูเป็นป้อมปราการ แต่ภายในย่อมมีรอยร้าว ขั้วบริหารตาลีบันมีปัญหาเรื่องการจัดสรรอำนาจ นำไปสู่การสู้รบระหว่างกลุ่มต่างๆ หรือการใช้ความรุนแรงสะสางปัญหาในเรื่องละเอียดอ่อน เช่น การอนุญาตให้หญิงสาว-สตรีเรียนหนังสือหรือไม่ ไปจนถึงความขัดแย้งกันระหว่างขั้วอำนาจที่ต้องการความสงบ ความมั่นคงเป็นอันดับหนึ่ง กับขั้วที่ต้องการให้รัฐบาลตาลีบันได้การยอมรับจากนานาชาติเสียที

...

เช่นเดียวกับกลุ่มหัวรุนแรงที่ท้าทายอำนาจของตาลีบันอย่างออกนอกหน้า “กองกำลังรัฐอิสลามโคราซาน” หรือสาขาของกลุ่ม “ไอเอส” จากอิรักและซีเรีย ก่อเหตุสะเทือนขวัญโจมตีมัสยิดและโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปยังชุมชนมุสลิมชีอะห์ ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลตาลีบันที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า การหวนคืนสู่อำนาจครั้งนี้จะนำมาซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพของอัฟกานิสถาน

ปัญหาใหญ่อีกประการสำหรับรัฐบาลตาลีบันคือ “วิกฤติเศรษฐกิจ” ที่ตามมาจากการล่มสลายของรัฐบาลอัฟกานิสถาน แน่นอนว่าเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ รัฐบาลปกติทั่วไปยังประสบปัญหามากมาย สำหรับอัฟกานิสถานนั้นยิ่งแล้วใหญ่ ขั้วอำนาจส่วนใหญ่เป็นนักรบที่ต่อสู้กับ “ผู้รุกราน” มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ตั้งแต่โซเวียตจนถึงอเมริกา มีโอกาสน้อยมากที่จะได้ซึมซับวิชาความรู้แขนงต่างๆ

ขณะที่การถูกนานาชาติ “คว่ำบาตร” ย่อมหมายถึง เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศที่คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณประเทศ ย่อมมีอันต้องหยุดชะงักลง ทางออกในเรื่องนี้ รัฐบาลตาลีบันจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เพื่อปลดล็อก แต่อย่างที่กล่าวไปขั้นต้น ขั้วบริหารเห็นต่างกันและดูเหมือนว่า ฝ่ายที่เลือกความมั่นคงมาก่อนจะมีน้ำหนักมากกว่า

ตลอด 1 ปี รัฐบาลตาลีบันยังใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด และเช่นกันในการ “เจรจา” ให้รัฐบาลสหรัฐฯยกเลิกการ “อายัด” ทรัพย์สินของธนาคารกลางอัฟกานิสถาน มูลค่ากว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 245,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินก้อนมาเยียวยาวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่กำลังเกิดขึ้น

ทว่า รัฐบาลสหรัฐฯก็มีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ หนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯไม่มีความประสงค์ที่จะยกเลิกการอายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางอัฟกานิสถาน หลังประเทศกลายเป็นที่หลบซ่อนของกลุ่มก่อการร้ายสากลอย่าง “อัลเคดา” จากหลักฐานเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่อากาศยานไร้คนสหรัฐฯปฏิบัติ การยิงมิสไซล์สังหาร “อัยมาน อัลซาวาฮิรี” ผู้สืบทอดอำนาจกลุ่มจาก “บินลาดิน” ภายในบ้านพักส่วนตัวใน “เมืองหลวง” กรุงคาบูล

แต่ยังถือไม่หมดหวัง กรณีนี้นักวิเคราะห์สำทับไว้ด้วยว่า เป็นไปได้ว่ารายงานของ นสพ.วอลล์ สตรีท เจอร์นัล อาจเป็นการจงใจ “ปล่อยข่าว” ของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อส่งสัญญาณให้ตาลีบันรับรู้ว่า สหรัฐฯอยากได้รับความร่วมมือจากตาลีบัน หรืออยากให้ตาลีบันทำอะไรมากกว่านี้ หากยูต้องการได้เงินคืน...

ภายในสำนักงานที่ดินจังหวัดบัลค์ “ไอนุดดิน” นั่งตรวจสอบ ลงนามเอกสารราชการอย่างตั้งใจบนโต๊ะไม้เคลือบเงาขนาดใหญ่ ขนาบด้วยธงชาติพื้นขาวตัวอักษรดำอิสลามเอมิเรตส์อัฟกานิสถานพร้อมกล่าวว่า “เราสู้กับศัตรูด้วยปืน ขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้เราชนะ ตอนนี้เราพยายามรับใช้ประชาชนด้วยปากกาแทน”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คิดถึงอดีตช่วงทำสงคราม “ญิฮาด” บ้างหรือไม่? ผอ.ไอนุดดินตอบว่า ครับ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขสำหรับผม แต่ตอนนี้ก็มีความสุขเหมือนกัน.

วีรพจน์ อินทรพันธ์