เป็นหนึ่งในแบรนด์ไก่ทอดยอดนิยมที่ขายดิบขายดีทั่วทุกมุมโลก แต่ KFC ของ “ผู้พันแซนเดอร์ส” ก็มักตกเป็นเป้าโจมตีขององค์กรเอ็นจีโอมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ที่ออกมาต่อสู้เพื่อทวงคืนสวัสดิภาพให้ไก่!! หวังยกระดับคุณภาพชีวิตของไก่ให้ดีขึ้น ตอกย้ำว่า “ไก่” ก็มีชีวิตจิตใจไม่ต่างจากคน

กระแสเดือดสุดคือ เมื่อปลายปี 2019 ผู้บริโภคในฝั่งประเทศยุโรปกว่า 5 แสนคน เรียกร้องให้แฟรนไชส์ซี KFC ใส่ใจสวัสดิภาพไก่และให้ความสำคัญกับแหล่งที่มา จนในที่ สุดแฟรนไชส์ซี KFC ในยุโรป 8 ประเทศ ได้แก่ สหราช อาณา จักร, ไอร์แลนด์, เยอรมนี, เนเธอร์ แลนด์, เบลเยียม, สวีเดน, เดนมาร์ก, และฝรั่งเศส ได้ให้คำมั่นต่อสาธารณะที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตไก่ให้ดีขึ้นภายในปี 2026 ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะช่วยชีวิตไก่หลายล้านตัวให้รอดพ้นความทุกข์ทรมานจากปัญหาหัวใจ ปอด และกระดูก อันเป็นผลมาจากการเลี้ยงไก่แบบเร่งโตของเหล่านายทุน

KFC ในประเทศไทย ก็ตกเป็นเป้าโจมตีไม่น้อย ถูกจัดอันดับในรายงาน “The pecking order 2021” ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกว่า มีนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์อยู่ในระดับ “แย่ที่สุด” 2 ปีติดต่อกัน รวมทั้งยังเพิกเฉยต่อเสียงผู้บริโภคชาวไทยกว่า 20,000 คน ซึ่งเรียกร้องให้เปิดเผยถึงแหล่งที่มาของไก่ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหาร รวมถึงนโยบายต่างๆเพื่อยกระดับสวัสดิภาพไก่

ปัจจุบัน KFC มีอยู่ 22,621 สาขา กระจายอยู่ใน 150 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีเกือบ 1,000 สาขา โดยเจ้าของคือ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ดำเนินการขายสิทธิ์แฟรนไชส์ ด้วยความที่เป็นแบรนด์ใหญ่ขวัญใจคนทั้งโลก ทำให้ KFC สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่จะถูกตั้งความคาดหวังไว้สูงกว่าฟาสต์ฟู้ดทั่วไป

...

สำหรับผู้บริโภคยุคใหม่แล้ว แบรนด์ในดวงใจของพวกเขาจะต้องเป็นแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้บริโภค กรณีของ KFC สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังก็คือ ความใส่ใจในแหล่งที่มาของไก่และคุณภาพชีวิตของไก่ เรียกว่าไก่ต้องแฮปปี้ มีสวัสดิภาพที่ดี ก่อนจะกลายมาเป็นเมนูไก่แสนอร่อย

แรงกดดันเพื่อยกระดับสวัสดิภาพไก่ร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง เมื่อเกิดศึกชิงแฟรนไชส์ซี KFC ระหว่างสองตระกูลเจ้าสัวใหญ่ของเมืองไทย คือ “ไทยเบฟ” และ “เซ็นทรัล” หลังจากบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RD ต้องการขายสิทธิ์การบริหารกิจการ KFC ในประเทศไทยราว 240 สาขา ใครชนะดีลนี้ก็จะกลายเป็นเจ้าตลาด KFC ไปเลย อย่างไรก็ดี องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกออกมาเรียกร้องว่า ศึกชิงแฟรนไชส์ซี KFC ครั้งนี้ควรจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการยกระดับสวัสดิภาพไก่ตามเทรนด์ของโลก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้บริโภค ทำให้เกิดความหวังใหม่ๆในการพิทักษ์สัตว์โลก

ในแต่ละปีผู้บริโภคคนไทยกินไก่ KFC ถึง 300 ล้านชิ้น แต่กลับไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับแหล่งที่มาของไก่ ฉะนั้น น่าจะถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้นำธุรกิจฟาสต์ฟู้ดตัวจริงอย่าง KFC ประเทศไทย จะออกมาให้ข้อมูลการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างโปร่งใส เช่น มีการคัดเลือกแหล่งที่มาของไก่อย่างไรและมีแผนพัฒนาสวัสดิภาพไก่อย่างไร ไม่ใช่เอาแต่เร่งขยายสาขาและเพิ่มยอดขายทำกำไรเข้ากระเป๋า บอกเลยว่าผู้บริโภคสมัยนี้ฉลาดเป็นกรด แถมยังใส่ใจเรื่องสวัสดิภาพสัตว์อย่างจริงจังด้วย อยากเป็นแบรนด์ในดวงใจของผู้บริโภคยุคใหม่ไปนานๆ สำคัญที่สุดคือความจริงใจ.

มิสแซฟไฟร์