ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การลงทุนด้านการศึกษา” มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน หากองค์กรหรือประเทศใดมี “ทุนมนุษย์” ที่มีศักยภาพสูง ย่อมเป็นความได้เปรียบเหนือชั้นในการแข่งขันทุกสมรภูมิ ช่วยเสริมให้สามารถบรรลุได้ทุกเป้าหมาย
เมื่อกว่า 10 ปีก่อน นายเบนจามิน ทันยาฮู อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ตั้งเป้าชัดเจนประการหนึ่งคือ จะต้องก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 5 “ชาติมหาอำนาจด้านไซเบอร์” กระทั่งถูกยกย่องว่าเป็น “ไซเบอร์ เนชัน” ตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ที่ต้องเผชิญหนีไม่พ้นการขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญมารับหน้าที่สานต่อภารกิจด้านความมั่นคงปลอดภัยบนโลกออนไลน์ และเพื่อเติมเต็มช่องว่างและสร้างยอดฝีมือรุ่นใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอิสราเอลจึงเริ่มการเรียนการสอนความรู้เบื้องต้นด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตระดับพื้นฐานตั้งแต่ “วัยเด็ก”
ขณะที่คณะกรรมการไซเบอร์แห่งชาติอิสราเอล (INCD) ยังพัฒนาโครงการฝึกอบรมและโปรแกรมการเรียนรู้นอกหลักสูตรในโรงเรียนตามปกติหลายโครงการ เพื่อส่งเสริมและดึงศักยภาพด้านไซเบอร์และเทคโนโลยีสำหรับกลุ่มเยาวชนโดยเฉพาะ อย่างเช่นโครงการ “Mamriot” (แมมริออต) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่นักเรียนหญิงในระดับมัธยมปลายจากกลุ่มเคร่งศาสนา ซึ่งปรารถนาจะเป็นอาสาสมัครรับใช้ชาติ หวังเพิ่มความหลากหลายในอุตสาหกรรมไฮเทค จัดฝึกอบรมด้านไซเบอร์และเทคโนโลยีเฉพาะทาง ในช่วงหลังเลิกเรียนทุกสัปดาห์ตลอดโปรแกรมนาน 3 ปี
เช่นเดียวกับ “Magshimim AI” (แมกชิมิม เอไอ) โปรแกรมนอกเวลาเรียนปกติสำหรับนักเรียนมัธยมปลายที่มีศักยภาพความสามารถเป็นเลิศ เพื่อให้ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการทำหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญในกองกำลังป้องกันประเทศที่เน้นคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ขั้นสูงตลอดเวลา 3 ปี ที่สำคัญยังเป็นโครงการเยาวชนระดับชาติโครงการแรกที่มุ่งเน้นด้านปัญญาประดิษฐ์และดาต้าอีกด้วย
...
ขณะที่ “Odyssey” (โอดิสซี)เหมาะสำหรับนักเรียนเกรด 9-12 ที่มีพรสวรรค์สูงและโดดเด่นเป็นพิเศษ ส่วน “Gsharim” (กชาริม) เป็นโอกาสที่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจะได้ประสบการณ์พื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นในอนาคตอย่างเช่น การเขียนโค้ด การออกแบบแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ การป้องกันทางไซเบอร์ โดยจะเรียนรู้การทำงาน-แก้ปัญหาเป็นทีม นอกจากความรู้ด้านเทคโนโลยีแล้ว ทุกโปรแกรมยังสอดแทรกทักษะด้านชีวิตอีกด้วย.
อมรดา พงศ์อุทัย