“เงินเฟ้อโลก” ยังคงพุ่งทะยานแบบฉุดไม่อยู่ จากราคาพลังงานและอาหารที่แพงขึ้น ผลพวงจากสงครามรัสเซียยูเครน และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจการเงินต่อรัสเซียของสหรัฐฯและยุโรป เงินเฟ้อสหรัฐฯเดือนมิถุนายนพุ่งขึ้นไปอีก 9.1% จาก 8.6% ในเดือนพฤษภาคม ทำสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 40 ปี จากราคาน้ำมัน อาหาร ค่าเช่าบ้าน ยานพาหนะ การดูแลสุขภาพ เสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยแรง 1% ในการประชุมวันที่ 27–28 กรกฎาคมนี้ เพื่อกดเงินเฟ้อลงมา แต่ก็คงเอาไม่อยู่ ซ้ำร้ายจะส่งผลให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯพุ่งขึ้นไปอีก
ผลจะเป็นอย่างไรสัปดาห์หน้าได้รู้กัน
วันนี้ผมจะพาท่านผู้อ่านไปดูวิกฤติเงินเฟ้อในประเทศ “ซิมบับเว” หนึ่งในประเทศยากจนในทวีปแอฟริกา แม้จะมีทรัพยากรมีค่ามากมายเช่นทองคำก็ตาม ซิมบับเวเคยทำสถิติเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2008–2009 เงินเฟ้อในซิมบับเวพุ่งขึ้นไปกว่า 231 ล้านเปอร์เซ็นต์ อ่านไม่ผิดครับ เงินเฟ้อ 231 ล้านเปอร์เซ็นต์ ประเทศทรุดโทรมอย่างรวดเร็วจากการทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองที่ครองอำนาจนานเกินไป
วารสาร การเงินธนาคาร ฉบับกรกฎาคม รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อในซิมบับเวในช่วงนี้น่าจะอยู่แถว 150% ซึ่งเห็นได้จากอัตราแลกเปลี่ยนที่พุ่งจาก 2.5 ดอลลาร์ซิมบับเวต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไปเป็น 160 ดอลลาร์ซิมบับเวต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในตลาดมืดจะแลกเปลี่ยนกันในอัตรา 350-450 ดอลลาร์ซิมบับเวต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ประธานาธิบดีซิมบับเว นาย Mnangagwa ขึ้นครองอำนาจในปี 2018 ได้พยายามแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยวิชาพิสดารไม่แพ้ ผู้นำประเทศตุรเคีย ที่ผมเคยเล่าไปแล้ว เช่น การห้ามธนาคารปล่อยกู้จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ทำเอานายธนาคาร พ่อค้า นักธุรกิจมึนกันไปหมด ไม่รู้จะทำมาหากินกันอย่างไร ผู้นำซิมบับเวมีความเชื่อว่า การกู้ยืมเงินจากธนาคารทำให้ค่าเงินท้องถิ่นตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เป็นกระบวนการทำลายล้างเศรษฐกิจซิมบับเว กดดันเงินเฟ้อให้พุ่งแรง จึงต้องห้ามแบงก์ปล่อยกู้เพื่อลดเงินเฟ้อ
...
แต่ในความเป็นจริง เมื่อ Mnangagwa ขึ้นเป็นผู้นำ ได้ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากมายเพื่อฟื้นฟูประเทศ ทำให้รายได้รัฐบาลไม่พอรายจ่าย ผู้นำซิมบับเวก็หาทางออกด้วยการสั่งพิมพ์ธนบัตรให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ผลก็คือเงินเฟ้อพุ่งทะยาน เงินออมประชาชนที่เก็บมาชั่วชีวิตหายวับกับเงินเฟ้อ ทำให้ชาวซิมบับเวต้องหาทางเลือกใหม่ในการออม เช่น การสร้างบ้านใหม่ เพื่อให้ได้ทรัพย์สินที่มั่นคงขึ้น
จนกระทั่ง นาย Kelvin Chamunorwa ได้นำบทเรียนอันเจ็บปวดของมารดาที่เก็บออมเงินมาจนเกษียณ สุดท้ายก็หายไปกับเงินเฟ้อ ความเจ็บปวดนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เขาคิด นวัตกรรมการเงินใหม่ เพื่อช่วยเหลือชาวซิมบับเวให้มีหลักประกันที่มั่นคงในยามแก่เฒ่า เขาได้คิดผลิตภัณฑ์การลงทุนที่จ่ายผลตอบแทนเป็น “วัว” ไม่ใช่เงินสกุลท้องถิ่นที่สังคมซิมบับเวมองว่าสัตว์ที่ใช้แรงงานอย่างวัวเป็นทรัพย์สินที่มีค่า
เมื่อผู้คนเสื่อมศรัทธาในเงินสกุลซิมบับเว เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็หายาก เขาจึงเสนอรูปแบบการลงทุนและการออมในรูปของ “วัว” ที่สามารถจับต้องได้ ไม่สูญหายหรือเสื่อมค่ารวดเร็ว เงินที่ชาวบ้านนำไปลงทุน เขานำไปลงทุนในกิจการฟาร์มวัว การขยายพันธุ์วัว ถือเป็นดอกผลที่งอกเงยขึ้นเรื่อยๆ เขาจัดโปรแกรมให้ลูกค้าไปเยี่ยมฟาร์มวัวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความมั่นใจ เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ลูกค้าจะได้รับแม่วัวหรือพ่อวัวตามข้อตกลง ที่สำคัญมูลค่าวัวที่ได้รับคุ้มค่าไม่แตกต่างจากการลงทุนหรือออมเงินในสถาบันการเงิน
ถ้า เงินเฟ้อในสหรัฐฯยังพุ่งไม่หยุด อีกไม่ช้า ชาวอเมริกัน อาจต้องเดินตามรอย ชาวซิมบับเว มองหาสินทรัพย์อื่นที่มีความมั่นคงมากกว่าเงินดอลลาร์ก็เป็นไปได้.
“ลม เปลี่ยนทิศ”