การค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลเนื้อเยื่ออ่อนนั้นหายาก เพราะฟอสซิลส่วนใหญ่จะเป็นกระดูกหรือส่วนต่างๆของร่างกายที่มีความแข็ง เช่น ฟัน โครง กระดูกภายนอก ในขณะที่สมองและเส้นประสาท จะประกอบด้วยสาร คล้ายไขมันที่ปกติแล้วจะไม่รอดกลายมาเป็นฟอสซิลได้ แต่การศึกษาซากสิ่งมีชีวิตประหลาดชนิดหนึ่งที่พบในแหล่งสะสมฟอสซิลในเทือกเขาร็อกกี้ รัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ได้ไขความกระจ่างใหม่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของสมองอาร์โธรพอด (arthropod)

ทีมวิจัยนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ในแคนาดา เผยว่า ซากดังกล่าวเป็นฟอสซิลเนื้อเยื่อสมองของสิ่งมีชีวิตคล้ายกุ้ง 3 ดวงตา ปากกลม มีฟันเรียงราย มีกรงเล็บด้านหน้าและมีหนาม แหวกว่ายในมหาสมุทรเมื่อ 500 ล้านปีก่อน เป็นสายพันธุ์เก่าแก่ที่สูญพันธุ์ไปแล้วของลำดับวิวัฒนาการอาร์โธรพอด ชื่อว่า Stanleycaris มีความเชื่อมโยงกับแมลงและแมงมุมยุคปัจจุบัน รูปลักษณ์ของ Stanleycaris แม้จะดูแปลกประหลาด แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ดึกดำบรรพ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เผยว่า การมีดวงตาที่ 3 ขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางศีรษะเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง แต่ที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นคือการพบเนื้อเยื่อสมองที่ถูกเก็บรักษาได้อย่างน่าอัศจรรย์

ทั้งนี้ ในการศึกษาตัวอย่างฟอสซิลของ Stanleycaris กว่า 250 ตัวอย่าง ที่มีอายุย้อนหลังไป 506 ล้านปี ทีมวิจัยพบว่าสมองและระบบประสาทส่วนกลางยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในฟอสซิล 84 ตัว การค้นพบนี้จึงเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจว่าพวกมันมีหน้าตาเป็นอย่างไรและอาศัยอยู่อย่างไรเมื่อในอดีต.

(ภาพจากยูทูบ)

...