- บอริส จอห์นสัน ประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้ว หลังจากรัฐมนตรี, ผู้ช่วย และสมาชิกสภาต่างพากันลาออกเพื่อกดดันหลังเกิดกรณีอื้อฉาวขึ้นมากมาย
- แม้ประกาศลาออกแต่จอห์นสันยังคงนั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อไปก่อน ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมหลายคน บางคนถึงขั้นขู่ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจเพื่อไล่เขาออก
- แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พรรคอนุรักษนิยมเริ่มเข้าสู่กระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยปริยาย โดยมี ส.ส.หลายคนเริ่มออกมาเสนอตัวแล้ว
บอริส จอห์นสัน ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม และตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรแล้ว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ก.ค. 2565 หลังจากเกิดกรณีอื้อฉาวมากมาย ทั้งคดี ‘ปาร์ตี้เกต’ ที่เขากับสมาชิกรัฐบาลจัดงานเลี้ยงในขณะที่ประชาชนต้องถูกล็อกดาวน์เพื่อป้องกันโควิด-9 และกรณีล่าสุดคือการลาออกของรองประธานวิปรัฐบาลที่นายจอห์นสันเลือกเองกับมืออย่างนายคริส พินเนอร์ เพราะถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ
แต่นายจอห์นสัน ระบุว่า เขาจะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปก่อน จนกว่าจะหาผู้แทนตัวเขาได้แล้ว ทั้งที่ในทางทฤษฎี เขาสามารถลาออกได้ทันทีและตั้งนายกฯ รักษาการทำหน้าที่แทน ทำให้เกิดกระแสต่อต้านขึ้นภายในพรรคอีกครั้ง ซึ่งอาจนำไปสู่การลงมติไม่ไว้วางใจในรัฐสภาเพื่อขับเขาออกจากตำแหน่ง แต่วิธีนี้หมายความว่า ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมต้องลงมติต่อต้านพรรคตัวเอง นักวิเคราะห์จึงมองว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นมากนัก
วิธีที่เหมาะสมที่สุดในการขับนายจอห์นสันพ้นตำแหน่งขึ้น การเลือกตั้งภายในเพื่อหาหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่มานานที่เขา โดยกระบวนการนี้อาจใช้เวลานานถึงเดือนตุลาคม แต่ก็เคยมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วว่าการเลือกตั้งสามารถเสร็จอย่างรวดเร็วได้ อย่างกรณีของนางเธเรซา เมย์ ที่การเลือกตั้งจบลงใน 2 เดือนเท่านั้น
สำหรับการเลือกตั้งภายใน ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมจะเสนอชื่อแคนดิเดต และโหวตจนเหลือ 2 คนมาประชันกันเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งต่อไปนี้คือรายชื่อ ส.ส.ที่มีโอกาสได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหัวหน้าพรรค และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร
...
ใครมีโอกาสได้เป็นนายกฯ คนใหม่?
ลิซ ทรุส – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ วัย 46 ปี เป็นผู้หญิงคนที่ 2 เท่านั้นที่ได้รับตำแหน่งนี้ เธอเคยได้รับตำแหน่งหลายอย่างในคณะรัฐมนตรี รวมถึงเป็นผู้แทนเจรจาขอตกลงการค้าหลังเบร็กซิตในฐานะ เลขาธิการการค้าระหว่างประเทศ และมักได้รับคะแนนนิยมเป็นลำดับต้นๆ ในการโหวตโหวตภายในพรรคเสมอ
ปัจจุบันเธอรับหน้าที่ดูแลเรื่องข้อกำหนดในข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรปในกรณีที่เกี่ยวข้องกับไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย เธอยังประกาศตัวว่าสนับสนุนให้นายจอห์นสันอยู่ในตำแหน่งต่อ 100% ด้วย
เจเรมี ฮันต์ – เข้าร่วมรัฐบาลอังกฤษในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อปี 2553 ก่อนจะได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขและต่างประเทศในเวลาต่อมา เขาได้คะแนนโหวตเป็นที่ 2 รองจากนายจอห์นสัน ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเมื่อปี 2562 เพื่อหานายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนที่นางเธเรซา เมย์
ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นายฮันต์ ในวัน 55 ปี ใช้ประสบการณ์ที่เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการสุขภาพและประกันสังคม เขาโหวตไม่ไว้วางใจนายจอห์นสันเมื่อเดือน มิ.ย. และประกาศเมื่อต้นปีว่า ความต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีของเขานั้นยังไม่หมดไป
เบน วอลเลซ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมวัย 52 ปี เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นสมาชิกรัฐบาลที่ได้รับความนิยมจากสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมมากที่สุดแทนนางทรุส ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากผลงานการพาชาวอังกฤษอพยพจากอัฟกานิสถานเมื่อปีก่อน และการตัดสินใจส่งอาวุธให้ยูเครน เขายังเป็นหนึ่งในผู้ที่สนับสนุนนายจอห์นสันมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2560 ด้วย
อดีตทหารผู้นี้ยังมีบทบาทสำคัญในการยับยั้งแผนลอบวางระเบิดโจมตีกองทัพอังกฤษของกลุ่ม IRA ในไอร์แลนด์เหนือ รวมถึงเป็นหนึ่งในคนสำคัญของกองทัพที่เกี่ยวข้องกับการนำพระศพของเจ้าหญิงไดอานากลับจากฝรั่งเศสด้วย
...
ริชิ ซูนัค – อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นคนแรกๆ ในคณะรัฐมนตรีของนายจอห์นสันที่ประกาศลาออกจากตำแหน่ง พร้อมกับนายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุข ปูทางไปสู่การทยอยลาออกของรัฐมนตรีและผู้ช่วยคนอื่นๆ กว่า 50 คน จนในท้ายที่สุด นายจอห์นสัน ก็ต้องจำยอมประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ครั้งหนึ่ง นายซูนัคเคยถูกมองว่าจะได้เป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมแทนที่นายจอห์นสัน แต่กลับเกิดเรื่องอื้อฉาวเรื่องการเลี่ยงภาษีของภรรยา และตัวเขาก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีปาร์ตี้เกตจนโดนสั่งปรับ แต่เขาก็ยังมีผลงานในการทุ่มงบประมาณมหาศาลช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศยังคงลอยตัวอยู่ได้
...
ซาจิด จาวิด – ลูกชายของผู้อพยพชาวมุสลิมจากปากีสถาน นับถือในตัวมาร์กาเรต แทตเชอร์ นายกฯ หญิงเหล็กแห่งอังกฤษ ผันตัวจากนายธนาคารเข้าสู่แวดวงการเมือง เคยดำรงตำแหน่งมากมายในคณะรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีคลัง และล่าสุดคือ รัฐมนตรีสาธารณสุข เขาได้คะแนนโหวตเป็นที่ 4 ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมเมื่อปี 2562
นายจาวิด เป็นคนแรกที่ลาออกจากคณะรัฐมนตรีของนายจอห์นสัน เพราะไม่พอใจที่นายกรัฐมนตรีเลือกนายคริส พินเนอร์ มารับตำแหน่งรองประธานวิปรัฐบาลอีกครั้ง ทั้งที่เคยลาออกไปเพราะเรื่องอื้อฉาวแล้วครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้ และสุดท้ายนายพินเนอร์ก็ลาออกอีกครั้งด้วยข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ
นาดิม ซาฮาวี - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ผู้เป็นที่จดจำในฐานะ รัฐมนตรีวัคซีน จากการร่วมผลักดันจนสหราชอาณาจักรกลายเป็นหนึ่งในประเทศแรกของโลกที่กระจายวัคซีนต้านโควิด-19 และผลงานนี้ทำให้เขาได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในเวลาต่อมา
ชายเชื้อสายอิรักผู้นี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับ เทเลทับบี และตั้งบริษัทจัดทำโพลชื่อดัง YouGov โดยหลังจากได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังแทนนายซูนัคไม่ถึง 24 ชั่วโมง นายซาฮาวีก็ออกมาร่วมกับรัฐมนตรีคนอื่นๆ เรียกร้องให้นายจอห์นสันลาออกจากตำแหน่งแล้ว
...
เพนนี มอร์ดันต์ – สมาชิกกองกำลังสำรองแห่งกองทัพเรือ ผู้สร้างประวัติศาสตร์เป็นรัฐมนตรีกลาโหมหญิงคนแรกของสหราชอาณาจักร ก่อนจะถูกนายจอห์นสันปลดตอนที่เขาได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2562 เนื่องจากเธอสนับสนุนคู่แข่งของเขาอย่างนายฮันต์
เธอเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนตัวยงให้สหราชอาณาจักรแยกตัวจากสหภาพยุโรป และสร้างความฮือฮาด้วยการเข้าร่วมในรายการเรียลลิตี้ดำน้ำชื่อว่า ‘Splash!’ ปัจจุบันเธอเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการค้า และประณามการจัดงานเลี้ยงฝ่าฝืนมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลว่าเป็น ความอับอาย แม้ก่อนหน้านี้เธอจะแสดงตัวว่าหนุนนายจอห์นสันก็ตาม
ทอม ทูเกนทัท – เป็น ส.ส.ครั้งแรกในปี 2558 ก่อนจะดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกิจการต่างประเทศแห่งรัฐสภาสหราชอาณาจักรนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นอดีตทหารผู้เคยร่วมต่อสู้ในสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้ UK อยู่กับ EU ต่อไป และเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์นายจอห์นสันตัวยง
นายทูเกนทัท ประกาศตัวมานานแล้วว่า เขาจะลงชิงชัยตำแหน่งผู้นำพรรค เขาเป็นนักปฏิบัตินิยมมากกว่าประชานิยม แต่ฝีมือของเขายังไม่ได้รับการพิสูจน์ เนื่องจากไม่เคยได้รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีมาก่อน
ซูเอลลา เบรเวอร์แมน – เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงแยกตัวจากสหภาพยุโรปในยุคของนายกรัฐมนตรี เธเรซา เมย์ แต่ตัดสินใจลาออกเพราะไม่พอใจในรายละเอียดของข้อตกลงเบร็กซิต ก่อนที่เธอจะรับตำแหน่งอัยการสูงสุดแทนที่นายจอฟฟรีย์ ค็อกซ์ ในปี 2563 และอยู่ในตำแหน่งนับแต่นั้นมา
นางเบรเวอร์แมนยืนยันชัดเจนแล้วว่า เธอจะเข้าร่วมการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมด้วย และเป็นหนึ่งในผู้ที่เรียกร้องให้นายจอห์นสันลาออกจากตำแหน่ง
เลือกนายกฯ ใหม่ทำอย่างไร?
คณะกรรมาธิการ 1992 ของรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งดูแลปัญหาเกี่ยวกับผู้นำพรรคอนุรักษนิยมจะประกาศกำหนดการคัดเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนายจอห์นสันในสัปดาห์หน้า และคาดกันว่าจะมีการเลือกตั้งภายในพรรคเพื่อหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไปโดยปริยาย
กระบวนการเลือกตั้งภายใต้กฎปัจจุบัน ผู้สมัครแต่ละคนจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมอย่างน้อย 8 คน หากมีผู้สมัครมากกว่า 2 คน ส.ส.พรรคอนุรักษนิยมจำเป็นต้องจัดการโหวตขึ้นหลายรอบ โดยรอบแรกผู้สมัครที่มีคะแนนเกิน 18 เสียงจะได้ไปต่อ ส่วนรอบที่ 2 ผู้สมัครที่มีคะแนนต่ำกว่า 36 เสียงหรือต่ำที่สุดจะถูกคัดออก
กระบวนการจะดำเนินไปเรื่อยๆ จนเหลือผู้สมัครเพียง 2 คน จากนั้นมีการรับคะแนนโหวตทางไปรษณีย์ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้โหวตในพรรคอนุรักษนิยมมากขึ้น ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุด จะได้เป็นหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศ
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : CNA , BBC