กระดูกก็เหมือนกับกล้ามเนื้อที่เติบโตตลอดเวลา และมีการวิวัฒนาการเพื่อปรับรูปร่างตัวเองภายใต้ความเครียดทางกลที่เกิดจากแรงโน้มถ่วงของโลกเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อ หากไม่ใช้กระดูกที่รับน้ำหนัก เช่น ในช่วงที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำในอวกาศเป็นเวลานาน กระดูกก็อาจอ่อนแอลงอย่างฟื้นคืนกลับไม่ได้
เมื่อเร็วๆนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวแห่งมหาวิทยาลัยคาลการีในแคนาดา เผยว่า ได้ใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ HR-pQC ที่สร้างภาพ 3 มิติของโครงสร้างกระดูกมนุษย์ในระดับที่ละเอียดกว่าความกว้างของเส้นผมมนุษย์ มาประเมินความเสื่อมสภาพและการฟื้นตัวของกระดูกมวลกระดูกในนักบินอวกาศ 17 คนที่เคยอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยเป็นนักบินอวกาศชาย 14 คน และนักบินอวกาศหญิง 3 คน มีอายุเฉลี่ย 47 ปี ซึ่งพำนักอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติระหว่าง 4-7 เดือน โดยสแกนข้อมือ ข้อเท้า หน้าแข้ง ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติและสแกนอีกทันทีที่พวกเขากลับมา จากนั้นก็สแกนติดตามผล 2 ครั้งใน 6 และ 12 เดือนหลังจากนั้น
ผลการวิจัยพบว่า กระดูกที่รับน้ำหนักสามารถฟื้นตัวได้เพียงบางส่วนในนักบินอวกาศส่วนใหญ่ภายใน 1 ปี หลังจากการขึ้นไปอยู่บนอวกาศ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าการสูญเสียมวลกระดูกอย่างถาวรอันเนื่องมาจากการบินในอวกาศนั้นใกล้เคียงกับการสูญเสียมวลกระดูกที่เกี่ยวข้องกับอายุราว 10 ปีบนโลก ส่วนภารกิจที่กินเวลา 6 เดือนหรือนานกว่านั้นจะทำให้พวกเขาต้องสูญเสียมวลกระดูกเทียบเท่ากับการแก่ตัวในช่วง 2 ทศวรรษ หรือ 20 ปี.
...