• บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศลาออก หลังเผชิญมรสุมการเมืองลูกใหญ่ ถูกกระแสกดดันภายในพรรคให้ลาออกจากตำแหน่ง หลังเกิดเรื่องเสื่อมเสียหลายครั้งหลายหน แม้ก่อนหน้านี้ จอห์นสัน ดึงดันจะไม่ยอมลาออกก็ตาม
  • นายกฯจอห์นสัน ยอมรับทำผิดใหญ่หลวง ตั้งส.ส.คริส พินเชอร์ เป็นรองประธานวิปรัฐบาล ทั้งที่ทราบว่าถูกร้องเรียนในเรื่องการประพฤติผิดทางเพศ
  • รัฐมนตรีและผู้ช่วย 'ตบเท้า'ลาออกกว่า 50 คน ตามสองรัฐมนตรีอาวุโสของพรรค รมว.คลัง และสาธารณสุขที่ยื่นใบลาออกฟ้าผ่า รับไม่ได้กับความเป็นผู้นำของบอริส จอห์นสัน 

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน วัย 58 ปี ตัดสินใจประกาศลาออก หลังเผชิญมรสุมการเมืองลูกใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ (อนุรักษ์นิยม) สืบต่อจากอดีตนายกฯ เทเรซา เมย์ เมื่อปี 2562

ถึงแม้ที่ผ่านมา นายกฯ จอห์นสัน ได้เจอมรสุมการเมืองมาแล้วหลายครั้งหลายหน แต่เขารู้ดีว่าไม่มีครั้งไหนจะรุนแรงเท่ากับครั้งนี้มาก่อน เมื่อต้องมาเผชิญกับกระแสเรียกร้องและถูกกดดันอย่างหนักภายในพรรคให้ลาออกจากตำแหน่ง ในขณะที่มีรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ ‘ตบเท้า’ ลาออกไปแล้วถึงอย่างน้อย 50 คน!! 

นี่คือสรุปเหตุการณ์ ทำไมจอห์นสันจึงต้องมาเผชิญกับมรสุมการเมืองลูกใหญ่? จนในที่สุด ได้ตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อวันที่ 7 ก.ค.65 

...

ยอมรับทำผิดพลาดครั้งใหญ่ 

มรสุมลูกใหญ่ที่ซัดใส่เก้าอี้นายกฯ ของจอห์นสัน สืบเนื่องมาจากกรณี ส.ส.คริส พินเชอร์ รองประธานวิปรัฐบาล ถูกร้องเรียนเรื่องการประพฤติผิดทางเพศ 

แน่นอนว่า เรื่องอื้อฉาวนี้ของ ส.ส.คริส พินเชอร์ จะไม่ส่งผลกระทบต่อจอห์นสัน เนื่องจากเป็นข้อกล่าวหาส่วนตัว แต่ประเด็นร้อนที่ทำให้เก้าอี้นายกฯ ของจอห์นสัน สั่นคลอนอย่างหนัก เป็นเพราะเขากลับ ‘เอาหูไปนาเอาตาไปไร่’ ไม่ตระหนักในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งที่ทราบเรื่องเสื่อมเสียของพินเชอร์มาก่อนหน้าแล้ว แต่กลับยังไปตั้งให้นายพินเชอร์ เป็น ‘รองประธานวิปรัฐบาล’

เมื่อประเด็น คริส พินเชอร์ กลายเป็นข่าวใหญ่โต จนเขาจำต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานวิปรัฐบาล โทษฐานสร้างความเสื่อมเสียให้กับพรรคทอรี หรืออนุรักษ์นิยม ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีนี้ก็มาถึง จอห์นสัน ที่จะต้องเผชิญชะตากรรมรับผิดชอบกับเรื่องนี้

บีบีซี รายงานว่า นายจอห์นสันได้กล่าวขอโทษที่แต่งตั้งให้พินเชอร์ มีตำแหน่งหน้าที่ในรัฐบาล หลังจากเขาได้รับการบอกกล่าวให้ทราบว่า นายพินเชอร์ โดนร้องเรียนเกี่ยวกับการประพฤติผิดทางเพศในปี 2562 แต่เขาก็ได้ทำผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ไม่กระทำการใดๆ ในเรื่องนี้

ซาจิด จาวิด ลาออกจากตำแหน่งรมว.สาธารณสุขสหราชอาณาจักร เมื่อ 5ก.ค.65
ซาจิด จาวิด ลาออกจากตำแหน่งรมว.สาธารณสุขสหราชอาณาจักร เมื่อ 5ก.ค.65

 2 รมว.อาวุโส ‘รับไม่ได้’ ประกาศลาออกฟ้าผ่า

ถึงแม้จอห์นสันได้ออกมาขอโทษขอโพยกรณีตั้งพินเชอร์ เป็นรองประธานวิปรัฐบาล แต่คำขอโทษคงไม่พอ.. เพราะที่ผ่านมาได้เกิดเรื่องเสื่อมเสียในรัฐบาลนายกรัฐมนตรีจอห์นสันมาหลายครั้งหลายหนแล้ว โดยเฉพาะเกิดกรณี ‘ปาร์ตี้เกต’ นายกฯ จอห์นสันฝ่าฝืนมาตรการล็อกดาวน์ ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เสียเอง จนโดนส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟเปิดลงมติไม่ไว้วางใจ แต่รอดมาได้ เมื่อ 6 มิ.ย.2565

รัฐมนตรีอาวุโสในรัฐบาล 2 คน ทั้ง นายริชี ซูนัค รมว.คลัง และ นายซาจิด จาวิด รมว.สาธารณสุข ได้ตัดสินใจยื่นใบลาออกแบบ‘ฟ้าผ่า’ เมื่อ 5 ก.ค.2565  โดยโจมตีบทบาทความเป็นผู้นำของนายกฯ จอห์นสัน ว่าไม่ได้กำลังรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

รมว.ทั้งสองระบุในหนังสือลาออกว่า ทั้งที่ประชาชนคาดหวังจะได้เห็นรัฐบาลที่มีความสามารถ บริหารงานอย่างจริงจังและถูกต้องเหมาะสม แต่รัฐบาลภายใต้การนำของนายจอห์นสัน กลับเจอแต่เรื่องอื้อฉาวมากมายในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประชาชน

รมว.และผู้ช่วยยกโขยงลาออกแล้วกว่า 50 คน

ภายหลังจาก รมว.คลัง และสาธารณสุข ตัดสินใจลาออกอย่างกะทันหันถึง 2 คน จากนั้นภายในเวลา 3 วัน มีรัฐมนตรีและผู้ช่วย รวมถึง ส.ส.ในพรรคอนุรักษนิยมได้ทยอยลาออกจากตำแหน่งแล้วกว่า 50 คน โดยในวันนี้ (7 ก.ค.) มีรัฐมนตรีลาออกอีกกว่า 6 คน รวมทั้ง นายแบรนดอน ลูอิส รัฐมนตรีด้านกิจการไอร์แลนด์เหนือ

แบรนดอน ลูอิส นับเป็นรัฐมนตรีคนที่ 4 ที่ลาออกจากรัฐบาลนายจอห์นสันในเช้าวันนี้ และยังมีรัฐมนตรีคนอื่นๆ กำลังทยอยลาออก โดยลูอิสได้บอกกับนายกฯ จอห์นสัน ว่า เขาไม่สามารถเสียสละความซื่อสัตย์ส่วนตัวเพื่อปกป้องสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาทั้งหลายยืนอยู่ในตอนนี้ โดยนายลูอิสยังได้เตือนจอห์นสันว่า เขาได้ผ่านจุดที่ไม่อาจหันหลังกลับไปได้อีก พร้อมกับเรียกร้องให้จอห์นสัน ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

...

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เผชิญมรสุมการเมือง ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เผชิญมรสุมการเมือง ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง

ปลด รมว.อาวุโสเรียกร้องให้ลาออก

ท่ามกลางวิกฤติกระแสต่อต้านและถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ในตอนแรก นายจอห์นสัน ตอบโต้ด้วยการตั้งรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาแทน และดึงดันจะสู้ต่อไป  แม้ว่ารัฐมนตรีที่ภักดีต่อเขา 2 คน ทั้ง พริที พาเทล รมว.มหาดไทย และ แกรนต์ แชปส์ รมว.คมนาคม ก็ยังเรียกร้องให้จอห์นสันลาออกก็ตาม 

การเดินหน้ารักษาเก้าอี้นายกฯของ จอห์นสัน ยังทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังจากได้สั่งปลด นายไมเคิล โกฟ รมว.กระทรวงเคหะและชุมชน ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคอาวุโสมานานเมื่อค่ำวันที่ 6 ก.ค. เพราะไม่พอใจที่นายโกฟออกมาเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง 

...

มีรายงานข่าว จอห์นสันยังตีตราต่อว่า นายโกฟ เป็น ‘งู’ จนทำให้มี ส.ส.พรรครัฐบาลคนหนึ่งบอกว่า นายกฯ จอห์นสัน ‘เสียสติ’ ไปแล้ว

แต่แล้ว ในที่สุด จอห์นสัน ก็ไม่สามารถฝ่าฟันมรสุมใหญ่ลูกนี้ไปได้ ตัดสินใจออกมาประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม เมื่อตอนหลังเที่ยงของวันที่ 7 ก.ค. ตามเวลาท้องถิ่น และจะรักษาการตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศอังกฤษ.

ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : BBC, Dailymail, Metro