• อินเดียประกาศห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อเร่งลดปริมาณขยะ แต่ยังคงเผชิญกับกระแสต่อต้านจากภาคการผลิตที่ยังปรับตัวไม่ทัน และผู้บริโภคที่ไม่ให้ความร่วมมือ
  • มาตรการห้ามการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งของอินเดีย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ในทางปฏิบัติจะสามารถปฏิบัติได้จริงมากน้อยแค่ไหนยังต้องจับตา
  • ด้านกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยเปิดใจ พร้อมขานรับนโยบาย แต่เรียกร้องรัฐบาลช่วยจัดหาทางเลือกทดแทนการใช้พลาสติกให้ด้วย มิเช่นนั้นพวกเขาจะเดือดร้อนหนัก ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุน

นับเป็นนโยบายรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่นักอนุรักษ์เห็นแล้วต้องปรบมือให้ กับความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมครั้งล่าสุดของอินเดีย ที่เพิ่งสั่งห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อเร่งลดปริมาณขยะในแม่น้ำที่เน่าเสียและเป็นพิษต่อสัตว์ในระบบนิเวศลง แต่การเดินหน้านโยบายในทางปฏิบัติกลับยังคงเผชิญกับกระแสต่อต้านจากทั้งภาคการผลิตที่ยังปรับตัวไม่ทัน ไม่สามารถที่จะยุติการผลิตพลาสติกได้ทันที ขณะที่ผู้บริโภคก็ยังไม่ให้ความร่วมมือ เพราะไม่อยากต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อจะซื้อสิ่งที่จะมาทดแทนพลาสติก

อินเดียมีขยะพลาสติกราว 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้ 1 ใน 3 ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และกลายเป็นขยะขวางคลองและทางน้ำต่างๆ หรือไม่ก็ถูกฝังกลบและจุดไฟเผา ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้น ขณะที่ภาพของวัวที่กินขยะพลาสติกเป็นอาหาร เป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในอินเดีย นอกจากนี้ผลจากการศึกษาล่าสุดยังพบว่ามีปริมาณขยะพลาสติกจำนวนมากปนเปื้อนอยู่ในอุจจาระของพวกช้างป่าทางตอนเหนือของรัฐอุตตรขัณฑ์ด้วย โดยรัฐบาลประมาณการว่าราวครึ่งหนึ่งของขยะพลาสติก เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

...

สำหรับคำสั่งห้ามใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งครั้งนี้ ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การนำเข้า และการจำหน่าย โดยรวมถึงพลาสติกประเภทหลอดและถ้วยที่ทำจากพลาสติก ก้านลูกโป่งพลาสติก ธงพลาสติก ป้ายที่ทำจากพลาสติกหรือ PVC ที่มีขนาดไม่เกิน 100 ไมครอน และของประดับตกแต่งที่ทำมาจากโพลีสไตรีน แท่งพลาสติกสำหรับใช้กับลูกกวาด ไม้ไอศกรีมที่ทำจากพลาสติก ตลอดจนห่อพลาสติกของซองบุหรี่ด้วย ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นในขณะนี้ ได้แก่ ถุงพลาสติกที่มีความหนาต่ำกว่าที่กำหนด และบรรจุภัณฑ์ที่มีหลายชั้น

ด้านเจ้าหน้าที่ทางการตั้งเป้าว่าจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เคยประกาศเจตนารมณ์เกี่ยวกับการงดใช้พลาสติกครั้งแรกเมื่อปี 2018 จนกระทั่งผลักดันให้มีผลบังคับใช้ในปีนี้สำเร็จ โดยจะเดินหน้า ตรวจสอบผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ และผู้จัดจำหน่าย ให้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด และหากพบว่ามีการฝ่าฝืน อาจถูกโทษปรับสูงสุด 100,000 รูปีอินเดีย หรือราวประมาณ 45,000 บาท หรือ จำคุก 5 ปี

การวิ่งเต้นของภาคอุตสาหกรรม

จริงๆ แล้วรัฐต่างๆ กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศอินเดียต่างมีการออกข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกในรูปแบบต่างๆ กันไปแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นความสำเร็จในภาพรวม ขณะที่บริษัทในภาคอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งเป็นฐานการจ้างงานใหญ่ที่มีพนักงานอยู่หลายล้านคน ก็วิ่งเต้นล็อบบี้รัฐบาลมายาวนานเพื่อที่จะยืดระยะเวลาในการบังคับใช้คำสั่งนี้มาตลอด เนื่องจากมองว่าพวกเขาต้องขาดทุนมหาศาลจากต้นทุนที่ต้องเพิ่มมากขึ้นหากเปลี่ยนจากการผลิตพลาสติกเป็นวัสดุทดแทนอื่นๆ

พินธุ หนุ่มชาวกรุงนิวเดลีที่ทำมาหากินจากการขายน้ำมะพร้าวยอมรับว่าเขายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หากต้องยกเลิกการใช้หลอดพลาสติก เสิร์ฟน้ำมะพร้าวให้แก่ลูกค้า หากจะต้องเปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษที่มีราคาแพงขึ้น เขาก็จำเป็นที่จะต้องปัดภาระค่าใช้จ่ายนี้ให้แก่ลูกค้าเช่นกัน ซึ่งแม้ว่านี่เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามที่รัฐบาลแจ้ง แต่เขาก็ไม่เห็นว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับพวกเขา เช่นเดียวกับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย ได้แต่กุมขมับ เพราะแม้ว่าพวกเขาจะอยากให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพียงใด แต่การที่ต้องจัดหาช้อนไม้ หรือจานกระดาษมาแทนพลาสติกก็ทำให้พวกเขาต้องใช้เงินลงทุนมากขึ้น ซึ่งหมายถึงกำไรของเขาที่มีเพียงน้อยนิดอยู่แล้วจะต้องลดลงด้วย

ด้านบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลโกลบอลดาตา ระบุว่า หลอดพลาสติกคิดเป็นมูลค่าถึง 35 เปอร์เซ็นต์ของเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม หากต้องเลิกผลิตไปก็เท่ากับว่าโรงงานผู้ผลิตจะได้รับผลกระทบหนักเลยทีเดียว

...

กระแสต่อต้าน


นายจิกิช เอ็น โดชิ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม พลาสตินเดีย ฟาวน์เดชั่น คาดการณ์ว่าจะมีการตกงานชั่วคราวตามมาแน่นอน แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ การที่บริษัทได้ลงทุนมหาศาลไปกับเครื่องจักรที่อาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกต่อไป หลังจากภาครัฐมีประกาศคำสั่งห้ามออกมา โดยโรงงานคงไม่สามารถใช้เครื่องจักรตัวเดิมกับสินค้าประเภทอื่นได้ และภาครัฐควรมีข้อเสนอหรือให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทให้สามารถเดินหน้าสายพานการผลิตต่อไปได้ และต้องช่วยช้อนซื้อผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่จะถูกผลิตออกมา

ขณะที่ นายสาธิต สิงหะ จากกลุ่มสิ่งแวดล้อม Toxics Link ระบุว่า จะมีการคัดค้านเกิดขึ้นแน่นอนในช่วงแรก เพราะการหาสินค้าทดแทนอาจเป็นเรื่องที่ยาก และมีเรื่องของราคาและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายผู้ขายและผู้ซื้อ แต่หากทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม นี่นับเป็นขั้นตอนที่น่ายินดีอย่างยิ่งและต้องผลักดันให้เดินหน้าต่อไป

แม้ว่าหลายฝ่ายจะเห็นตรงกันว่า กว่าที่นโยบายนี้จะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายคงใช้เวลาในการปรับตัวอีกสักระยะ เพราะการบริหารจัดการเพื่อลดขยะปริมาณมหาศาลจากการใช้งานของประชากรกว่า 1,300 ล้านคน คงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การที่อินเดียเริ่มนำร่องให้เห็นเป็นแนวทาง น่าจะช่วยให้อีกหลายๆ ประเทศที่กำลังพิจารณาหาวิธีการลดขยะพลาสติก กล้าที่จะเดินตามรอยแนวทางนี้ในอนาคต.

...

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : france24 , rfi