คลื่นความร้อนที่เพิ่มขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อประชากรโลก ซึ่งจะเห็นจาก สถานการณ์ในหลายภูมิภาคของโลกในปัจจุบัน เช่น ที่ญี่ปุ่นก็เป็นข่าวครึกโครมว่ากำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ทำให้อุณหภูมิสูง โดยในสัปดาห์นี้ก็เรียกได้ว่า กรุงโตเกียวอ่วมอรทัยกับอากาศร้อนที่สุดในเดือน มิ.ย. นับตั้งแต่มีการบันทึกไว้ในปี พ.ศ.2418

ระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นไม่ใช่แค่ก่อปัญหาทางสุขภาพ ผู้คนเป็นลมแดด ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ถึงขั้นล้มตายไปก็มี ซึ่งรายงานของสื่อในญี่ปุ่นระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 2 รายจากโรคลมแดด ขณะที่รัฐบาลก็เรียกร้องให้ประชาชนในพื้นที่โตเกียวและจังหวัดใกล้เคียงประหยัดพลังงานไฟฟ้าเพื่อหลีกเลี่ยงไฟฟ้าดับ

ในอินเดียและปากีสถานก็มีรายงานอุณหภูมิสูงมากในช่วงฤดูใบไม้ผลิ คลื่นความร้อนโจมตีทำให้อุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกอเธนเบิร์ก ในสวีเดน เผยว่าหลังจากสรุปสถานการณ์ต่างๆเกี่ยวกับผลที่ตามมาจากคลื่นความร้อนในเอเชียใต้จนถึงปี พ.ศ.2643 จากการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความร้อนจัดกับประชากรในสถานการณ์ที่ดีที่สุด พวกเขาเชื่อว่า ช่วงเวลาที่เหลือของศตวรรษนี้ คาดว่าคลื่นความร้อนจะยิ่งเพิ่มขึ้น และกระทบต่อผู้คนกว่า 500 ล้านคนในทุกปี

ความน่ากังวลเพิ่มเติมก็คือ อาจสามารถนำไปสู่การขาดแคลนอาหาร การเสียชีวิต และการไหลบ่าของผู้ลี้ภัยเมื่อความร้อนถึงระดับที่เกินกว่าที่มนุษย์จะทานทนไหว มีรายงานระบุว่า คลื่นความร้อนได้ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในอินเดียและปากีสถานแล้ว เกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างหนักเมื่อความแห้งแล้งและความร้อนส่งผลต่อพืชผลเช่น ข้าวสาลี เกษตรกรได้ย้ายพืชผลไปยังระดับความสูงที่สูงขึ้นเพื่อหนีความร้อนจัด ทว่าการเคลื่อนไหวรูปแบบนี้ก็ส่งผลให้พื้นที่ขนาดใหญ่ของต้นไม้ถูกจัดการใหม่ ในขณะที่ต้นไม้นั้นมีส่วนทำให้อุณหภูมิลดลง

...

อีกส่วนที่ยังเป็นสิ่งที่แก้ไม่ตกก็คือขนาดของประชากรส่งผลต่อจำนวนคลื่นความร้อนในอนาคต เมื่อประชากรจำนวนมากขึ้นก็ทำให้เกิดการปล่อยมลพิษมากขึ้นตามการบริโภคและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามกัน

นักวิจัยมองว่า การวางผังเมืองมีความสำคัญ เพราะหากมีการสร้างเมืองและหมู่บ้านใหม่ในสถานที่ที่มีคลื่นความร้อนน้อยกว่า จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจะลดลงนั่นเอง.

ภัค เศารยะ