พ.ศ.2554 ในปีนี้เพียงปีเดียว ศิษย์บาลานซ์ (ติวเตอร์หมู) สอบนายร้อยตำรวจผ่านทุกขั้นตอนทุกสายรวม 916 นาย

จันทร์วันนี้ 10.00-12.00 น. ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ผู้ก่อตั้งสถาบันนี้เมื่อ พ.ศ.2525 จะพูด “เตรียมตัวสอบนายร้อยตำรวจอย่างมีประสิทธิภาพ” ให้ศิษย์บาลานซ์ (ติวเตอร์หมู) ผู้จะสอบในปีนี้ 400 นาย ที่ชั้น 5 อาคารไออีซี ซอยรามคำแหง 30 กทม.

ว่างวันนี้ ผมนั่งรถจากเมืองอูเทรกไปเยือนกรุงเฮก เมื่อผ่านที่ทำการของศาลโลก ก็นึกได้ว่าเคยอ่านบทความจากเมืองไทย ท่านผู้เขียนเขียนสลับกัน ระหว่างศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีการจะนำอดีตผู้นำของไทยไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ดันไปเขียนว่าจะส่งไปศาลอะไรอย่างอื่น ผมก็เลยขอถือโอกาสที่มาเยือนกรุงเฮก เขียนเรื่องนี้รับใช้ ผู้อ่านท่านที่เคารพกันหน่อยครับ

ประเทศก็เหมือนคน เมื่อมีพรมแดนประชิดติดกัน ก็ไม่แคล้วจะต้องมีเรื่องกระทบกระทั่งทะเลาะเบาะแว้งกัน บางทีแม้จะอยู่ห่างกัน แต่ก็ทะเลาะกันเรื่องผลประโยชน์ ในแวดวง ระหว่างประเทศนะครับ เมื่อเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีการระงับข้อพิพาท ใครๆ ก็อยากให้ความขัดแย้งสงบจบลงแบบ “สันติวิธี” ทั้งนั้นละครับ

การระงับข้อพิพาทบางอย่างไม่ผูกพันคู่กรณี เช่น การเจรจา การไกล่เกลี่ย การประนอม การแสวงหาข้อเท็จจริง และการให้บริการที่ดี

แต่คำชี้ขาด หรือคำพิพากษาของศาลระหว่างประเทศ คู่กรณีต้องปฏิบัติตาม เบี้ยวไม่ได้ ศาลที่ว่ามีอยู่ 3 องค์กรคือ ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และศาลอาญาระหว่างประเทศ

ศาลอนุญาโตตุลาการมีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ สมัยนั้น ใช้คณะตัดสิน พอถึงสมัยกลางก็ใช้โป๊ปหรือจักรพรรดิเป็นอนุญาโตตุลาการสูงสุด ต่อมาใช้พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ชี้ขาด ว่าใครผิด ใครถูก ใครต้องปฏิบัติอย่างไร

ปัจจุบันทุกวันนี้ คู่พิพาทเลือกผู้ตัดสินเอง แต่ต้องตัดสินตามหลักกฎหมาย และคำตัดสินมีผลผูกพันคู่พิพาท

ศาลอนุญาโตตุลาการประจำตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ทุกประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญากรุงเฮก ค.ศ.1899 ต้องส่งชื่อพวกที่มีชื่อเสียงทางศีลธรรมและพร้อมที่จะเป็นอนุญาโต- ตุลาการไปไว้ที่สำนักงานระหว่างประเทศของศาล ส่งไปประเทศละ 4 คน ทั้ง 4 คนนี่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกของศาลมีวาระ 6 ปี

ชื่อประเทศละ 4 คนจะไปอยู่ในบัญชีของคนที่พร้อมจะเป็นอนุญาโตตุลาการ ประเทศไหนมีเรื่องกัน และต้องการระงับข้อพิพาทแบบสันติวิธี ก็จะสอดส่ายสายตาเลือกและแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละ 2 คน จากคลังบัญชีรายชื่อที่ถูกส่งไปจากประเทศต่างๆ ประเทศละ 4 คน อย่างผมเรียนรับใช้ไปแล้ว

ทะเลาะกัน 2 ประเทศ เลือกได้ประเทศละ 2 คน ก็จะได้อนุญาโตตุลาการ 4 คน และต้องมีคนกลางอีก 1 คน คนกลางนี่จะมาจากรัฐอื่นเลือกให้ก็ได้ ถ้าตกลงกันไม่ได้เรื่องคนกลาง ก็ให้เลือกคนกลางมา 2 คน แล้วจับสลากให้เหลือ 1 คน

ศาลจะตัดสินคดีตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วยเสียงข้างมาก ในคำตัดสินต้องมีเหตุผลว่าทำไมถึงตัดสินอย่างนั้น อนุญาโตตุลาการเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดในจุดใด ก็สามารถเขียนความเห็นแย้งต่อท้ายคำชี้ขาดนี้ได้

เมื่อคำชี้ขาดถูกอ่านในที่ประชุม เปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว แจ้งให้ตัวแทนของคู่กรณีทราบแล้ว ก็ถือว่าได้ตัดสินระงับข้อพิพาทเด็ดขาด ไม่มีการอุทธรณ์นะครับ

คำตัดสินโดยคณะอนุญาโตตุลาการผูกพันเฉพาะคู่พิพาท ไม่มีผลต่อประเทศที่สาม แต่เมื่อกรณีที่คู่พิพาทพบข้อเท็จจริงใหม่ที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสิน และเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลและคู่พิพาทฝ่ายที่ขอทบทวนคำตัดสินไม่ทราบมาก่อน ก็อาจจะขอให้มีการทบทวนคำตัดสินได้

ต่อไปนี้ เมื่อผู้อ่านท่านที่เคารพอ่านข่าวระหว่างประเทศ พบคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ท่านก็คงจะนึกออกแล้วนะครับ ว่าขั้นตอนต่างๆ กว่าจะมาเป็นคำชี้ขาดนั้น มีที่ไปที่มายังไง ส่วนศาลอาญาระหว่างประเทศ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ผมจะมารับใช้ท่านในโอกาสต่อไป.

...


คุณนิติ นวรัตน์