ทวีปแอนตาร์กติกา เป็นสถานที่ที่ผู้คนส่วนใหญ่มองว่าบริสุทธิ์และดูไม่น่าจะมีอะไรเข้าไปปนเปื้อนได้ แต่ผลการศึกษาใหม่ที่เพิ่งเปิดเผยหมาดๆก็ชวนให้นักวิจัยตื่นตกใจไม่น้อย เพราะพบ “ไมโครพลาสติก” (microplastics) ที่เป็นชิ้นพลาสติกมีขนาดเล็กกว่าเมล็ดข้าวในหิมะที่ตกลงมาในแอนตาร์กติกาใหม่ๆ เป็นครั้งแรก จากรายงานของนักวิจัยแห่งมหา วิทยาลัยแคนเทอเบอรี่ ในนิวซีแลนด์
เป็นที่รู้กันว่า ไมโครพลาสติกมีผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ตั้งแต่จำกัดการเจริญเติบโต การสืบพันธุ์ ส่งผลต่อการทำงานทางชีววิทยาทั่วไปในสิ่งมีชีวิต แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบในทางลบต่อมนุษย์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การค้นพบหลักฐานแรกของไมโครพลาสติกในหิมะแถวแอนตาร์กติกาได้ชี้ให้เห็นถึงภัยร้ายที่กำลังคืบคลานคุกคามทวีปแอนตาร์กติกาแล้ว เนื่องจากไมโครพลาสติกในอากาศมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศและช่วยเร่งการละลายของหิมะและน้ำแข็ง
ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแคนเทอเบอรี่ ระบุว่า หลังจากเก็บตัวอย่างหิมะใน 19 พื้นที่ทั่วหิ้งน้ำแข็งรอสส์อันห่างไกลในทวีปแอน ตาร์กติกาช่วงปลายปี 2562 และกลับมาแยกวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการทดลอง โดยใช้เครื่องวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางโครง สร้างเคมีของสารโดยใช้ความยาวคลื่นช่วงอินฟราเรด เพื่อระบุประเภทของอนุภาคพลาสติกที่มีอยู่ในหิมะ ก็พบว่า มีอนุภาคพลาสติกในทุกๆตัวอย่างที่เก็บมาจากหิ้งน้ำแข็งรอสส์ และที่น่าเศร้าคือ ไมโครพลาสติกปนเปื้อนในหิมะที่ตกใหม่ๆ ซึ่งพลาสติกที่พบมีถึง 13 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นชนิด PET ซึ่งมักใช้ทำขวดน้ำอัดลมและเสื้อผ้า
นักวิจัยตรวจสอบความเป็นไปได้ของแหล่งที่มาของไมโครพลาสติกเหล่านี้โดยอาศัยการสร้างแบบจำลองบรรยากาศ ซึ่งผลการศึกษาแบบจำลองบ่งชี้ว่า ไมโครพลาสติกดูเหมือนจะเดินทางในอากาศได้หลายพันกิโลเมตร แต่มีความเป็นไปได้ที่มนุษย์ที่เข้าไปในทวีปแอน ตาร์กติกาจะทิ้งร่องรอยของไมโครพลาสติกไว้
...
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยฉบับนี้อาจช่วยให้ภาคีสนธิสัญญาแอนตาร์กติกาสามารถตัดสินใจตามหลักฐานเกี่ยวกับความจำเป็นเร่งด่วนในการลดมลภาวะพลาสติกในอนาคต.
ภัค เศารยะ