เทพนิยายหลายเรื่องมักก่อเกิดจินตนาการให้กับผู้อ่าน บางคนก็พยายามขับเคลื่อนจินตนาการนั้นให้กลายเป็นจริงในสักวัน เช่น “แฮนเซล กับ เกรเทล และบ้านขนมปังขิง” เรื่องของ 2 พี่น้องที่ถูกบิดานำไปปล่อยในป่าตามคำสั่งของแม่เลี้ยง เด็กทั้งคู่เดินไปเจอบ้านขนมปังขิงของแม่มดใจร้าย แน่นอนว่าเด็กๆ ไม่พลาดที่จะลิ้มลองขนมหวานสร้างเป็นบ้านในป่าใหญ่

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยคือ ยูยะ ซากาอิ รองศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรม และโคตะ มาชิดะ ลูกศิษย์ของเขาที่มหาวิทยาลัยโตเกียวในญี่ปุ่น ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับเทพนิยายบ้านขนมปังขิง ตรงที่สร้างวัสดุใหม่ที่ใช้งานได้ไม่ต่างจากปูนซีเมนต์ ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน

ทีมอธิบายว่าครั้งแรกๆ ได้นำผงไม้บดละเอียดมาบีบอัดด้วยความร้อน จากนั้นก็ลองทำแบบเดียวกันกับเศษอาหาร ซึ่งการทดลองก่อนหน้านั้นทีมต้องผสมพลาสติกเพื่อให้วัสดุเกาะติดกัน แต่หลังจากผลที่ได้ไม่น่าพอใจ ทีมเลยใช้การปรับอุณหภูมิและปรับแรงดันเพื่อให้วัสดุยึดติดกันได้ นักวิจัยทั้งคู่เผยว่าประสบความสำเร็จในการทำซีเมนต์โดยใช้ใบชา เปลือกส้ม หัวหอม กากกาแฟ กะหล่ำปลีจีน แถมยังปรับรสชาติด้วยเครื่องเทศต่างๆ จนพบว่าสี กลิ่น รวมถึงรสชาติของซีเมนต์แบบใหม่มีความดึงดูดใจไม่น้อย ซึ่งพวกเขาเผยว่าถ้าจะกินก็จะต้องทุบเป็นชิ้นๆ แล้วต้ม แต่แน่นอนเมื่อคนกินได้ บรรดาแมลง หนู ก็กินได้เช่นกัน

นักวิจัยทั้งคู่ระบุว่าเทคโนโลยีดังกล่าวถือเป็นกระบวนการแรกของโลกในการผลิตซีเมนต์จากเศษอาหารทั้งหมด และอ้างว่าแรงดึงหรือการดัดงอของวัสดุใหม่นี้มีประสิทธิภาพมากกว่าคอนกรีตธรรมดาเกือบ 4 เท่า ที่น่าสนใจคือวัสดุนี้นำไปใช้ทำที่อยู่อาศัยชั่วคราว “ที่กินได้” ในภาวะภัยพิบัติ เช่น หากไม่อาจส่งอาหารไปยังผู้ประสบภัยหรือผู้อพยพได้พวกเขาก็สามารถบริโภคเตียงชั่วคราวที่ทำจากซีเมนต์ที่ผลิตจากเศษอาหารได้

...

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยหวังว่านี่จะเป็นวิธีหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อน บรรเทาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวัสดุเหลือทิ้งที่ปล่อยก๊าซมีเทนเมื่อเน่าเสียขณะฝังในหลุมฝังกลบ อีกทั้งในญี่ปุ่นนั้นเศษอาหารเป็นปัญหาใหญ่ รัฐบาลได้ตั้งเป้าที่จะลดจำนวนขยะดังกล่าวให้เหลือ 2,700 ล้านกิโลกรัม ภายในปี 2573.

ภัค เศารยะ