ศุกร์ที่แล้วผมรับใช้กรณีที่จีนและไต้หวันอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ อังคารวันนี้ผมขอเขียนถึงการอ้างสิทธิของเวียดนามซึ่งอ้างด้วยหลัก discovery (การค้นพบ) และ occupation (การครอบครองอย่างต่อเนื่อง) ตั้งแต่ ค.ศ.1815 โดยเวียดนามอ้างว่าข้าฯ ส่งคณะออกสำรวจเส้นทางการเดินเรือเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว พอถึง ค.ศ.1958 ข้าฯได้จัดทำแผนที่โดยผนวกหมู่เกาะสแปรตลีย์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของข้าฯ

ขณะที่จีนอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ โดยมีแผนที่การเดินเรือและหลักฐานเอกสารตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) เวียดนามก็อ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์เมื่อมิถุนายน ค.ศ.1956 โดยอ้างคำแถลงการณ์ที่นครซานฟรานซิสโกเมื่อ ค.ศ.1951 + การประกาศแบ่งเขตสัมปทานน้ำมันให้ต่างชาติ + Succession of State หรือหลักการสืบสิทธิของรัฐที่ตนเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสผู้เคยปกครองบางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์

ค.ศ.1975 เวียดนามส่งทหารไปยึดเกาะและลักษณะภูมิสัณฐาน 6 แห่ง จากนั้นก็ขยายการครอบครอง ปัจจุบันเวียดนามครอบครองเกาะและลักษณะภูมิสัณฐานอื่นมากถึง 24 แห่ง เวียดนามสร้างป้อมค่ายทหารติดตั้งปืนใหญ่ ปืนต่อสู้อากาศยาน ท่าเรือและสนามบินขนาดเล็ก

มาเลเซียตะโกนว่า อ้า เวียดนามเคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ข้าฯก็เคยอยู่ภายใต้การปกครองของนายฝรั่งเหมือนกัน แต่นายเก่าของข้าฯคืออังกฤษ นายข้าฯเคยครอบครองเกาะเหล่านี้ เมื่อเวียดนามอ้างหลัก Succession of State ข้าฯก็ขออ้างหลักการการสืบสิทธิของรัฐด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นมาเลเซียก็ออกประกาศเขตทางทะเลโดยประกาศเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะเมื่อ ค.ศ.1979 และ 1980 แล้วก็พิมพ์แผนที่ออกมายืนยันให้ชาวโลกได้รับรู้รับทราบว่า อ้า เขตไหล่ทวีปของมาเลเซียขยายออกไปครอบคลุมลักษณะภูมิสัณฐานต่างๆถึง 11 แห่งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ จากนั้นก็ส่งทหาร เข้าไปประจำการอยู่บนเกาะหลายแห่ง

...

ค.ศ.1983 มาเลเซียส่งทหารไปครอบครอง Swallow Reef จากนั้นก็ครอบครองเกาะ โขดหิน ปะการังรูปวงแหวน เมื่อครอบครองได้แล้ว ก็รีบเชิญบริษัทของสหรัฐฯมามอบสัมปทานน้ำมันให้ ใครมาก่อกวนพื้นที่แถวนี้ก็หมายถึงพวกเอ็งเข้าก่อกวนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ สหรัฐฯเอาตายนะมึง มาเลเซียก็ทุ่มงบประมาณพัฒนากองกำลังทหารและยุทโธปกรณ์เพื่อปกป้องเขตทางทะเลของตน มีการพัฒนากองเรือติดตั้งป้อมปืน สร้างสนามบิน เท่านั้นยังไม่พอ มาเลเซียยังเชิญเอกชนเข้าไปตั้งโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

อย่างที่ผมเรียนเมื่อวันศุกร์ว่ามีมากถึง 6 รัฐที่อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์คือจีน ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ บรูไนติดทะเลจีนใต้กับเขาเหมือนกัน แต่ความที่เป็นประเทศขนาดเล็กและมีประชากรแค่ 4.3 แสน บรูไนมีกำลังทหารไม่พอ จึงไม่ได้ส่งทหารไปฮึ่มฮั่มอะไรกับเขา ได้แต่ประกาศว่า อ้า บรูไนมีโครงการพัฒนาศักยภาพทางทหารทั้งทางเรือและทางอากาศนะ ใครอย่ามายุ่มย่ามหนามนุ้ยในเขตไหล่ทวีป 350 ไมล์ของบรูไนนะ มีโขดหิน 2 โขดเป็นของเนอการาบรูไนดารุซซาลามด้วยนะ คือโขด Louisa Reef และ Rifleman Reef โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Louisa Reef ห้ามใครเข้ามายุ่งเด็ดขาดนะ เพราะอยู่ในเขตไหล่ทวีป 350 ไมล์ของบรูไนนะ

ฟิลิปปินส์บอกว่า โอยปวดหัว เอ็งอ้างอะไรกันมากมาย ข้าฯ ขออ้างหลักการ Discovery (การค้นพบ) และ Geographic Contiguity (สภาพที่ตั้งใกล้เคียงทางภูมิศาสตร์) ซึ่งนักผจญภัยชาวฟิลิปปินส์ค้นพบกลุ่มเกาะ Kalayaan ที่ประกอบด้วย 5 เกาะ 2 สันทราย และ 2 โขดหินใต้น้ำ เรื่องฟิลิปปินส์กับหมู่เกาะสแปรตลีย์นี่ยาว ต้องเขียนกันหลายตอนครับ

ที่รับใช้ไปสองวัน (ศุกร์ 27 กับอังคาร 31 พ.ค.) เป็นกรณีข้อพิพาทในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ผมยังไม่ได้รับใช้ถึงข้อพิพาทที่อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะพาราเซล

อยากเข้าใจกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ทั้ง 2 หมู่เกาะ ต้องอ่านเอกสารฉบับต่างๆของสหรัฐฯ สหรัฐฯศึกษาเรื่องนี้ละเอียดกว่าใคร ผมเชื่อว่าสหรัฐฯศึกษาเพื่อจะเอาไปใช้เล่นจีนในอนาคต

จีนคงไม่ยอม

สงครามใหญ่อาจจะเกิดได้เสมอ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com