• ศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ประเทศได้รับอิสรภาพ ประชาชนเดือดร้อนด้วยปัญหาอาหารและของใช้จำเป็นราคาพุ่งสูงเนื่องจากความขาดแคลน

  • ล่าสุดรัฐบาลศรีลังกาผิดชำระหนี้ต่างประเทศเป็นครั้งแรกแล้ว เนื่องจากไม่มีเงินต่างประเทศสำรองเหลือพอ เสี่ยงกระทบความน่าเชื่อถืออย่างหนัก

  • ต้นเหตุของปัญหาทุกอย่างต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่ศรีลังกาเพิ่งได้รับอิสรภาพใหม่ กอปรกับนโยบายที่ผิดพลาดและการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของศรีลังกาตกต่ำลงจนถึงจุดนี้

ศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยเจอมา พวกเขาเพิ่งผิดชำระหนี้ต่างประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อ 74 ปีก่อน ขณะที่ประชาชน 22 ล้านคนในประเทศต้องเผชิญการตัดไฟฟ้านานวัน 15 ชั่วโมง ท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหาร, เชื้อเพลิง และของใช้จำเป็นอื่นๆ รวมถึงยา อัตราเงินเฟ้อก็พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ไปอยู่ที่ราว 30%

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเกิดการประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี โกตบายา ราชปักษา ซึ่งประชาชนมองว่าเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อวิกฤติของประเทศออกจากตำแหน่ง แต่นอกจากไม่ลาออกแล้ว นายราชปักษายังบังคับใช้มาตรการฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนไม่พอใจมากยิ่งขึ้น และเกิดการประท้วงที่รุนแรงขึ้นตามมาในหลายเมืองของประเทศ

ปัญหาหลักๆ ที่กำลังเล่นงานศรีลังกาอยู่ตอนนี้คือ การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเป็นเงินสำหรับการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะกับประเทศเกาะแห่งนี้ที่เน้นการนำเข้าอาหารเป็นหลัก และทำให้พวกเขาไม่สามารถชำระหนี้ได้ แล้วจุดเริ่มต้นของปัญหานี้อยู่ตรงไหน ทำไมเงินต่างประเทศของศรีลังกาจึงหมดลง

...

ต้นเหตุวิกฤติเศรษฐกิจศรีลังกา

จุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษกิจศรีลังกาคงต้องเริ่มตั้งแต่พวกเขาได้รับอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อปี 2491 ภาคการเกษตรของพวกเขาเน้นหนักที่การเพาะปลูกผลผลิตเพื่อการส่งออก เช่น ชา, กาแฟ, ยาง และเครื่องเทศ การส่งออกสินค้าเหล่านี้คือส่วนแบ่งขนาดใหญ่ของจีดีพีประเทศ และเงินที่ได้มาก็ถูกใช้เพื่อนำเข้าอาหารที่จำเป็นเข้ามา

หลายปีผ่านไป ศรีลังกาเริ่มส่งออกเสื้อผ้า และได้เงินต่างประเทศจากการท่องเที่ยวกับการส่งเงินจากต่างชาติเข้าประเทศโดยชาวศรีลังกา หากการส่งออกสินค้าใดลดลง จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และทำให้จำนวนเงินตราต่างประเทศสำรองต้องแบกรับภาระหนัก

ด้วยเหตุนี้ ศรีลังกาจึงเกิดปัญหาเรื่องดุลการชำระเงินบ่อยมาก นับตั้งแต่ปี 2508 จนถึงตอนนี้ พวกเขากู้เงินไอเอ็มเอฟไปแล้ว 16 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีเงื่อนไขว่า ศรีลังกาต้องลดการขาดดุลงบประมาณเมื่อได้รับเงิน วางนโยบายการเงินอย่างรัดกุม ลดการอุดหนุนราคาอาหาร และลดค่าเงิน เพื่อให้การส่งออกทำได้ง่ายขึ้น

แต่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ทำให้รัฐบาลต้องอัดฉีดเม็ดเงินมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้พวกเขาทำตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟไม่ได้ ถึงอย่างนั้น ไอเอ็มเอฟก็ยังอนุมัติเงินกู้ให้ศรีลังกาเรื่อยมา ทำให้หนี้พอกพูนขึ้น ในขณะที่สุขภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว อัตราการเติบโต, การลงทุน, เงินเก็บ และรายได้ ลดลง สวนทางกับปริมาณหนี้

สถานการณ์เลวร้ายลงด้วยความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจถึง 2 ครั้งในปี 2562 โดยครั้งแรกเกิดจากเหตุระเบิดโจมตีโบสถ์และโรงแรมหรูในกรุงโคลอมโบหลายครั้งช่วงเดือนเมษายน ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงมาก ทำให้มีเงินต่างประเทศเข้ามาน้อยลง และเหตุการณ์ที่ 2 คือ การมาของรัฐบาลประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา ที่ใช้นโยบายประชานิยมอย่างลดภาษี ทำให้รายได้ของรัฐหายไปราว 1.4 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2% ของจีดีพี

หลังจากไวรัสโควิด-19 ระบาด รัฐบาลของนายราชปักษาก็ทำเรื่องผิดพลาดสาหัสอีกครั้งในเดือนเมษายน 2564 ด้วยการสั่งห้ามนำเข้าปุ๋ยทั้งหมด เพื่อรักษาเงินตราต่างประเทศสำรองเอาไว้ และประกาศตัวเป็นประเทศที่ทำฟาร์มด้วยวิธีออร์แกนิก ก่อนที่มาตรการนี้จะถูกยกเลิกในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน หลังผลผลิตทางการเกษตรลดลงอย่างมาก จนทำให้ต้องนำเข้าสินค้ามากขึ้น

แต่ผลกระทบจากการห้ามนำเข้าปุ๋ยเกิดขึ้นไปแล้ว ผลผลิตยาและชาของศรีลังกาลดลงอย่างหนัก นำไปสู่การลดลงของรายได้จากการส่งออก เมื่อรายได้น้อยลง ศรีลังกาก็มีเงินสำหรับนำเข้าอาหารน้อยลง ทำให้อาหารขาดแคลนอุบัติขึ้นมา และเมื่อปริมาณสินค้าน้อยลง แต่ความต้องการไม่ลดลงเลย ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงแตะ 30% ในเดือนเมษายน 2565

...

ที่ว่าวิกฤติหนัก หนักขนาดไหน?

ปัจจุบัน ราคาอาหารในศรีลังกาสูงขึ้นกว่าปีก่อนร่วม 200% ไม่มีเงินดอลลาร์สำหรับซื้อน้ำมันเบนซิน โดยน้ำมันลอตล่าสุดขนเข้ามาที่ท่าเรือกรุงโคลอมโบตั้งแต่ 28 มี.ค. แต่นำมาใช้ไม่ได้เพราะไม่มีเงินจ่าย ส่งผลให้ปั๊มน้ำมันในกรุงโคลอมโบต้องระงับบริการเกือบทั้งหมด ผู้คนเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อน้ำมันจากปั๊มที่ยังให้บริการ ขณะที่การตัดไฟฟ้าประจำวันถูกขยายเพิ่มจาก 12 ชั่วโมง เป็น 15 ชั่วโมง

ด้วยสภาพประเทศที่ใกล้ล้มละลายเต็มทน รัฐบาลศรีลังกาจึงประกาศระงับการชำระหนี้ต่างประเทศจำนวน 7 พันล้านดอลลาร์ ที่พวกเขาต้องจ่ายภายในปีนี้ แต่นั่นไม่ใช่หนี้ทั้งหมดของประเทศ พวกเขาต้องคืนเงินถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2569 จากหนี้ทั้งหมด 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ตอนนี้ ศรีลังกามีเงินต่างประเทศสำรองเพียง 25 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ศรีลังกาผิดชำระหนี้ต่างประเทศ

การผิดชำระหนี้ต่างประเทศครั้งแรกของศรีลังกาเกิดขึ้นหลังจาก พวกเขาไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยจำนวน 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในเส้นตายเมื่อวันพุธ (18 พ.ค.) ที่ผ่านมาได้ ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ที่สุดของโลก 2 เจ้า ประกาศให้ศรีลังกาอยู่ในสถานะ ผิดชำระหนี้ทันที

การผิดชำระหนี้นั้น สามารถสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศ ทำให้การกู้ยืมเงินจากตลาดสากลทำได้ยากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินรูปีของศรีลังกา ที่ตอนนี้ร่วงไปแล้ว 33%

อย่างไรก็ตาม นาย พี.นันดาลัล วีระสิงเห ผู้ว่าธนาคารกลางศรีลังกา ย้ำจุดยืนของประเทศว่า พวกเขาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้จนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาจำเป็นต้องไปเจรจากับบรรดาเจ้าหนี้ เพื่อหาทางออกซึ่งกันและกัน

...

รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา
รานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา

ก้าวต่อไปหลังจากนี้

รัฐบาลของนายราชปักษา แต่งตั้งนายรานิล วิกรมสิงเห นักการเมืองอาวุโส รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 6 เพื่อให้ช่วยแก้วิกฤติของประเทศ ซึ่งนายวิกรมสิงเหยอมรับว่า หลังจากนี้ศรีลังกาจะเผชิญความยากลำบากมากกว่าที่เป็นอยู่แต่ช่วงเวลาเหล่านั้นจะอยู่ไม่นาน เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่พวกเขาเจรจาด้วยนั้น ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือแล้ว

ประเทศดังกล่าวรวมถึง อินเดีย ซึ่งให้ศรีลังกากู้เงินไปแล้ว 1.9 พันล้านดอลลาร์ และอาจให้กู้เพิ่มอีก 1.5 พันล้านดอลลาร์ สำหรับการนำเข้าสินค้า นอกจากนั้น รัฐบาลแดนภารตะยังส่งปุ๋ยจำนวน 65,000 ตันกับเชื้อเพลิงอีก 400,000 ตันให้ศรีลังกาไปแล้ว และส่งไปเพิ่มอีกในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

ด้านกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำทั้ง 7 หรือ “จี7” ได้แก่ แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือศรีลังกาในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้

ขณะที่ ไอเอ็มเอฟตกลงให้ศรีลังกากู้เงินฉุกเฉินจำนวน 600 ล้านดอลลาร์ ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยและภาษี ซึ่งนายวิกรมสิงเหประกาศไปเมื่อวันพฤหัสบดีแล้วว่า พวกเขาจะลดการอุดหนุนราคาพลังงาน และจะเพิ่มงบประมาณด้วยการขึ้นภาษี เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศขาดดุลงบประมาณถึง 13% ในปีนี้





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : washington posttimes of india , bbc

...