ผลการศึกษาล่าสุดชี้ว่า ปัญหามลพิษต่างๆ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากกว่า 9 ล้านศพในปี 2562 นำโดยประเทศอินเดีย
สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ผลการศึกษาใหม่ซึ่งเผยแพร่โดยคณะกรรมการ แลนเซต ว่าด้วยมลภาวะและสุขภาพ เมื่อวันอังคารที่ 17 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา พบว่า มลพิษต่างๆ เป็นสาเหตุทำให้คนเสียชีวิตถึง 9 ล้านศพในปี 2562 หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในปีดังกล่าว
โดยมลพิษทางอากาศ ทั้งภายในบ้านและโดยรอบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 6.7 ล้านศพ ตามด้วยมลพิษทางน้ำ 1.4 ล้านศพ ขณะที่สารตะกั่วส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 9 แสนศพ และอาชีพที่เสี่ยงอันตรายต่อสารพิษ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 870,000 ศพ
การศึกษาล่าสุดจัดทำบนพื้นฐานของรายงานเรื่องเดียวกันในปี 2558 โดยดึงข้อมูลจากรายงานภาระโรคในระดับโลก (Global Burden of Disease Study) ซึ่งเป็นความรวมมือระหว่างประเทศนำโดยสถาบันประเมินและตรวจวัดสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation)
โดยตลอดระยะเวลา 4 ปี ผลกระทบจากมลพิษในโลกไม่ได้ดีขึ้นเลย ทำให้มันกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงทางธรรมชาติใหญ่ที่สุดที่จะทำให้เกิดโรคและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และการขาดนโยบายด้านสารเคมีที่เพียงพอในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ทำให้การเสียชีวิตด้วยสาเหตุเหล่านี้เพิ่มสูงขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ผลการศึกษานี้ยังพบว่า มากกว่า 90% ของผู้เสียชีวิตเหล่านี้ อยู่ในประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหามลพิษเป็นอันดับแรก เช่น อินเดีย มีผู้เสียชีวิตถึง 2.3 ล้านศพ ในจำนวนนี้เป็นเพราะมลพิษทางอากาศ 1.6 ล้านศพ ส่วนประเทศรายได้สูง ทำได้เพียงควบคุมไม่ให้เกิดผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดจากมลพิษเท่านั้น
...
สำหรับอินเดีย ปัญหามลพิษของพวกเขาเลวร้ายลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน ขณะที่แอฟริกามีการเสียชีวิตจากมลพิษที่เคยพบบ่อยอย่างเช่น น้ำไม่ปลอดภัยหรือการดูแลสุขอนามัยย่ำแย่ ลดลง เนื่องจากพัฒนาการด้านสุขอนามัย, คุณภาพน้ำ และยาปฏิชีวนะ แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจากมลพิษในอากาศกลับเริ่มเพิ่มขึ้น จากการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ
คณะกรรมการแลนเซต เรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับปัญหามลภาวะ โดยมีข้อเสนอแนะ 8 ข้อรวมถึง ให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณสำหรับการควบคุมมลพิษ, พัฒนาการเก็บข้อมูลมลพิษ และตั้งองค์กรอิสระระดับโลก เพื่อดูแลเรื่องมลพิษโดยเฉพาะ