ราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว ต่างประกาศเปิดพรมแดนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเวลาใกล้เคียงกัน และคาดว่าการเปิดชายแดนไทย–ลาว ซึ่งมีความยาวถึง 1,800 กม. จะส่งเสริมความสัมพันธ์ของสองประเทศ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และอื่นๆ

จะไม่ใช่เพียงการส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน เฉพาะไทยกับลาวเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศจีนซึ่งมีประชากรกว่า 1.3 พันล้านคนด้วย เพราะลาวกับจีนได้ร่วมกันเปิดการเดินรถไฟความเร็วสูง จากเวียงจันทน์ถึงชายแดนจีน ที่เมืองบ่อเต็น เป็นระยะทาง 471 กม.มาตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2564

แต่เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด ทั้งฝ่ายไทยกับลาวจึงปิดชายแดนเป็นครั้งคราว จึงไม่สะดวกที่คนไทยจะใช้บริการในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร จากไทยผ่านลาวถึงจีน ด้วยรถไฟความเร็วสูง บัดนี้น่าจะพร้อมแล้ว นายนิยม ไวยรัชพานิช ประธานคณะกรรมการการค้าชายแดนฯ ระบุว่าค่าบริการค่อนข้างถูก

รถไฟจากลาวถึงจีนเป็นรถไฟ ความเร็วสูงปานกลาง วิ่งด้วยความเร็ว 120 กม.ต่อชั่วโมง วิ่งวันละ 10 ถึง 16 เที่ยว ค่าขนส่งสินค้า 24–25 บาทต่อตัน ส่วนรถโดยสารวิ่งด้วยความเร็ว 160–200 กม.ต่อชั่วโมง วันละ 8 เที่ยว เมื่อถึงเมืองชายแดนลาวแล้ว สามารถต่อไปได้ถึงคุณหมิง เสฉวน ซึ่งมีประชากร 20 ล้านคน

โครงการรถไฟความเร็วสูงลาวกับจีน เป็นโครงสร้างพื้นฐานราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ลาว แพงกว่าการสร้างเขื่อนใหญ่ๆหลายแห่งในลาว เช่น เขื่อนน้ำงึม ที่ผลิตไฟฟ้าขายให้ไทย ส่วนประเทศไทยก็มีโครงการรถไฟความเร็วสูง ร่วมกับจีนเช่นเดียวกัน แต่การก่อสร้างเป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะมีปัญหา

โครงการรถไฟความเร็วสูง ระหว่างจีนกับลาว และระหว่างจีนกับไทย น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของอภิมหาโครงการ ด้านคมนาคมของจีน ที่เรียกว่า “โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่จีนวางแผนจะเชื่อมโยงไปทั่วโลก ผ่านลาวและไทย ต่อไปถึงมาเลเซีย และประเทศอื่นๆ แม้แต่ศรีลังกา ประเทศจีนก็ไปสร้างท่าเรือขนาดใหญ่

...

โครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่าง ไทยกับจีนจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ ไม่รู้ แต่ในระหว่างที่ยังไม่แล้วเสร็จ คนไทยก็ต้อง อาศัยบริการรถไฟความเร็วสูงระหว่างลาวกับจีนไปก่อน มิใช่เพียงแต่เป็นการกระชับความสัมพันธ์กับลาวซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด แต่ส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับจีนด้วย.