ก๊าซมีเธน (Methane) จัดเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ของภาวะโลกร้อนรองจากคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นผลผลิตจากการขนส่ง และการใช้เชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์หรือเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ มีเธนยังมาจากการสลายตัวของอินทรียวัตถุในพื้นที่ชุ่มน้ำ และเป็นผลพลอยได้จากการย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง (ruminant digestion) ในเกษตรกรรม

ใน การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ที่นครกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์เมื่อปีที่แล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องกับ Global Methane Pledge คือ แผนความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซมีเธนโลก ที่ตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซมีเธนลง 30% ภายในปี 2573 แต่ก็มีบางประเทศยังไม่ได้ลงนามในแผนความร่วมมือดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติในสหรัฐอเมริกาได้แถลงการณ์แสดงข้อมูลให้เห็นว่าการปล่อยมลพิษทั่วโลกยังคงเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องและเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยระบุว่าการเพิ่มขึ้นของก๊าซมีเธนในชั้นบรรยากาศระหว่างปี 2564 อยู่ที่ 17 ppb (ต่อพันล้านส่วน) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การตรวจวัดอย่างเป็นระบบที่เริ่มขึ้นในปี 2526 และตลอดปี 2564 นักวิทยาศาสตร์พบว่าระดับก๊าซมีเธนในชั้นบรรยากาศเฉลี่ยอยู่ที่ 1,895.7 ppb ซึ่งนับว่ามากกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมประมาณ 162% เรียกได้ว่า ความเข้มข้นของก๊าซมีเธนในชั้นบรรยากาศนั้นเพิ่มขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ก็ว่าได้

นักวิทยาศาสตร์มองว่าต้องจัดการมีเธนก่อนและอย่างเร่งด้วย ไม่ควรชะลอเวลาออกไป แม้ว่าหากเทียบแล้วระดับคาร์บอนได ออกไซด์ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน ค่าเฉลี่ยพื้นผิวโลกสำหรับคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2564 อยู่ที่ 414.7 ppm (ต่อล้านส่วน) แต่ถึงมีเธนจะน้อยกว่า ทว่ากลับมีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 25 เท่า

...

นอกจากนี้ ระยะเวลาของก๊าซที่คงอยู่ในบรรยากาศ (Atmospheric Residence Times) ของมีเธนอยู่ที่ประมาณ 9 ปี เมื่อเทียบกับหลายพันปีของคาร์บอนไดออกไซด์

ดังนั้น การควบคุมก๊าซมีเธนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีอิทธิพลต่ออัตราการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอันใกล้.

ภัค เศารยะ