เรื่อง “อวกาศ” เมื่อกลับไปดูอดีตและหันมามองปัจจุบันจะเห็นว่ามนุษย์มาไกลจากจุดเริ่มต้นในอย่างมากมาย สิ่งที่เคยเป็นเพียงจินตนาการในนวนิยายวิทยาศาสตร์ ในภาพยนตร์ กลับกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาแล้วในยุคนี้ ใครจะคาดคิดว่ามนุษย์จะได้เดินทางออกไปท่องเที่ยวนอกโลก โดยไม่ต้องไปร่ำไปเรียนเพื่อเป็นนักบินอวกาศ นักวิทยาศาสตร์ เพียงแค่ใช้เงินทองกรุยทางให้ก็ได้ไปแตะขอบอวกาศได้

ในเดือนนี้ก็มีคิวยานลูกเรือดรากอน ของสเปซเอ็กซ์จะบินเต็มรูปแบบครั้งแรกไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ สนนราคาต่อ 1 ที่นั่ง อยู่ที่ 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 1,848 ล้านบาท ราคานี้รวมห้องพักและอาหารบนสถานีอวกาศ 8 วัน พร้อมทัศนียภาพที่น่าตื่นตะลึง หรือใคร อยากเพียง 15 นาที ก็มีราคาที่เบากว่าเยอะ เช่นไปกับยานของบริษัทเวอร์จิน กาแล็กติก ของเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ หรืออีกทางเลือกก็คือยานของบริษัทบลู ออริจิน ที่กุมบังเหียนโดยเจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งเว็บแอมะซอน อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของโลก

แต่ถ้าหากเพียงแค่ติดตามการค้นพบสิ่งต่างๆในจักรวาล ที่อาจไขคำตอบว่ามีเพียงเราในจักรวาลอันกว้างใหญ่ หรือมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆอาศัยอยู่บนดาวดวงใดที่เรายังไม่ได้ค้นพบ แน่นอนว่าเรามีเครื่องมือทรงพลังหลายชิ้น ที่พัฒนากันมา มีทั้งที่ยังใช้งานอยู่ บางชิ้นปลดระวางไป บ้างก็ล่องลอยออกนอกระบบสุริยะไปแล้ว หรือที่ของใหม่ที่กำลังสร้างอีกหลายชิ้น ที่ปล่อยไปเมื่อไม่นานนี้ก็คือ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ เครื่องมือแห่งความหวัง เพราะราคาที่ปลุกปั้นกล้องตัวนี้มาก็ไม่ธรรมดา เหยียบที่ 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 336,000 ล้านบาท เพื่อทำภารกิจค้นหาดาวฤกษ์และกาแล็กซีที่เก่าแก่ที่สุดในจักรวาล

ที่น่าสนใจคือ การพยายามออกแบบนวัตกรรมเพื่อการสำรวจ โดยที่ขนาดสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นมีรูปทรงเล็กลง แต่ประสิทธิภาพต้องแกร่งและเก่งเกินตัว และอาจไม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล หนึ่งในตัวเลือกที่เข้าท่าเข้าทีก็คือ “ดาวเทียมนาโน” ซึ่งมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบากว่า 10 กิโลกรัม บรรจุเชื้อเพลิงในตัวเอง แถมยังปล่อยได้ทั้งทีละดวง หรือปล่อยออกไปเป็นฝูงก็ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มักใช้ดาวเทียมสำรวจโลก ดูการตอบสนองต่อภัยพิบัติ การเดินทะเล ตรวจดูพืชผล ฯลฯ แต่ขณะนี้ก็มีการสร้างดาวเทียมตัวเล็กๆที่จะใช้วิธีใหม่ๆในการสำรวจโลกและดาวเคราะห์อื่นๆ เช่น ดาวเทียมขนาดลูกบาศก์คือ CubeSat ก็จะถูกปล่อยตัวไปใน พ.ค.นี้ร่วมภารกิจโครงการอาร์เทมิส (Artemis) ของนาซาบนดวงจันทร์ โดยจะปล่อยดาวเทียมดังกล่าว เดือน พ.ค.

...

ขนาดเล็กแต่ทรงพลังอย่างนี้ผลงานจะออกมาสมราคาหรือไม่ต้องรอชม.

ภัค เศารยะ