- นักวิเคราะห์ยังไม่ฟันธง สาเหตุเครื่องโบอิ้ง ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์โหม่งโลก โดยอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ยังต้องรอกล่องดำช่วยยืนยันไขปริศนาการตกแบบผิดปกติครั้งนี้ต่อไป
- เครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737-800 เจเนอเรชันใหม่ นับเป็นเครื่องบินรุ่นที่มีความปลอดภัยสูงสุดรุ่นหนึ่ง ที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุต่ำสุดนับตั้งแต่มีการผลิตมาเทียบเท่ากับโบอิ้ง 747-400 และโบอิ้ง 737
เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 NG นับว่าเป็นเครื่องบินโบอิ้งเจเนอเรชันใหม่ ที่พัฒนาขึ้นมาก่อนหน้ารุ่น 737 แม็กซ์ ที่ประสบอุบัติเหตุตก 2 ครั้ง จนต้องระงับการใช้งานทั่วโลก จึงถือว่าเครื่องบินโบอิ้งรุ่นใหม่นี้เป็นหนึ่งในรุ่นที่มีการพัฒนาด้านความปลอดภัยสูงสุดในบรรดาเครื่องโบอิ้งด้วยกัน โดยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ครั้ง จากเครื่องบินรุ่นนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 7,000 ลำนับตั้งแต่เริ่มผลิตเมื่อปี 1997
พอล ฮาเยส ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยทางอากาศและประกันภัยของบริษัท ซิเรียม บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเดินทางทางอากาศ ระบุว่า เครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 NG (New Generation) ได้ให้บริการมานานถึง 25 ปีแล้ว และนับว่ามีประวัติความปลอดภัยที่ดีเยี่ยม แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่สามารถระบุชัดว่าเกิดอะไรขึ้น แต่หากข้อมูลของไฟลต์เรดาร์ 24 ถูกต้องแม่นยำ แสดงว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นแบบฉับพลัน จนทำให้เครื่องบินหันหัวลงในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว และตราบใดที่ผลการสืบสวนหาสาเหตุยังไม่ออกมา ก็อาจจะส่งผลให้ผู้บริโภคงดใช้บริการเครื่องบินรุ่นนี้ไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจน
สำหรับอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นกับเครื่องบินรุ่น 737-800 ก่อนเหตุการณ์ครั้งล่าสุดนี้ เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2020 โดยเป็นเครื่องบินของสายการบิน แอร์ อินเดีย เอ็กซ์เพรส ที่ไถลออกนอกรันเวย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 21 ศพ โดยผลการสอบสวนชี้ว่าเกิดจากความประมาทของนักบิน
...
ส่วนอุบัติเหตุครั้งล่าสุดของสายการบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ MU5735 เมื่อวานนี้ พบว่าเครื่องได้ดิ่งลงมามากกว่า 25,000 ฟุต ในเวลาเพียง 2 นาที ครึ่งเท่านั้น โดยเครื่องยังคงความเร็วในแนวดิ่งเร็วถึง 455 น็อต นาน 19 วินาที หรือความเร็วเกือบ 31,000 ฟุต/นาที ในช่วงไม่กี่วินาทีก่อนเครื่องบินจะตกกระแทกภูเขาและเกิดไฟลุกท่วม จนข้อมูลขาดหายไป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าด้วยความเร็วและองศาการตก น่าจะส่งผลให้ข้าวของต่างๆบนเครื่องบินรวมทั้งผู้โดยสารที่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยลอยขึ้นไปกระแทกเพดานอย่างรุนแรง
จากข้อมูลของแอร์เซฟดอทคอม ที่ติดตามข้อมูลความปลอดภัยทางด้านการบิน ระบุว่า เครื่องบินโบอิ้งรุ่น NG นี้ มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตจนถึงปี 2019 เพียงแค่ 0.07 ต่อ 1 ล้านเที่ยวบินเท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับเครื่องบินโบอิ้ง 747-400 และ โบอิ้ง 737 รวมทั้งเครื่องบินตระกูลแอร์บัส SE A320 ซึ่งมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุน้อยมาก
ขณะที่เครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ ที่เพิ่งใช้งานได้เพียงไม่ถึง 2 ปี ก็ต้องถูกสั่งระงับการใช้งานไปทั่วโลกเมื่อเดือนมีนาคมปี 2019 หลังจากประสบเหตุตกถึง 2 ครั้ง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 346 ศพ และจีนก็เป็นประเทศแรกที่ประกาศหยุดใช้งานเครื่องรุ่นดังกล่าว เพื่อให้มีการปรับปรุงและขออนุมัติการรับรองการใช้งานอีกครั้งเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีการใช้งานเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเพื่อการพาณิชย์แต่อย่างใด
ด้านเว็บไซต์เดลี่เมล ได้นำความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน เกี่ยวกับสาเหตุการตกของเครื่องบินไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ MU5735 ที่โหม่งโลกด้วยลักษณะที่ผิดปกติมาสรุปความเป็นไปได้หลายๆ ด้าน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันเหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้บางอย่าง ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้หลายทางด้วยกัน
ศาสตราจารย์อาร์เธอร์ โรว์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ ระบุว่า ความเป็นไปได้เรื่องหนึ่ง ก็คือความขัดข้องของแผงควบคุมระดับความสูงของเครื่อง ที่อาจจะถูกตัดกระแสไฟกะทันหัน ทำให้กัปตันไม่สามารถควบคุมเครื่องได้
นอกจากนี้ยังอาจจะมีสาเหตุมาจากแพนบังคับทิศทาง (control surface) ในห้องนักบินขัดข้อง หรือระบบเกิดติดขัดบางอย่าง ซึ่งหากเกิดขึ้นกับส่วนหาง หรือแผงควบคุมไม่ตอบสนอง ก็อาจจะทำให้เครื่องบินดิ่งลงลักษณะเช่นนั้นได้ แต่นักบินที่ได้รับการฝึกฝนไม่น่าจะปล่อยให้เครื่องบินพุ่งลงมาในเช่นนั้น
ขณะเดียวกันเรื่องของการก่อวินาศกรรม ก็อาจจะกลายเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ยังไม่สามารถตัดทิ้งได้ แต่หากพิจารณาจากมาตรการคุมเข้มพรมแดนเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ของจีนแล้ว น่าจะทำให้สาเหตุนี้เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะกับเที่ยวบินภายในประเทศเช่นนี้
...
ส่วนประเด็นที่ว่า เครื่องบินอาจจะประสบปัญหาที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ ศาสตราจารย์โรว์เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะต่อให้เครื่องยนต์ดับ เครื่องบินก็จะยังสามารถบินต่อไปได้อีก แม้ว่าจะสามารถบินได้ภายในเวลาที่จำกัดก็ตาม
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เถา หยาง แห่งมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ระบุว่า มีความเป็นไปได้ ที่สาเหตุการตกครั้งนี้อาจจะเกิดจากความขัดข้องของระบบเซนเซอร์ โดยเฉพาะตัวเซนเซอร์ที่ช่วยป้องกันการจับตัวของน้ำแข็ง ซึ่งอาจจะส่งผลให้รูปก้นหอยตรงใบพัดไม่สามารถควบคุมได้ เพราะอุบัติเหตุทางเครื่องบินที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่เกิดจากความขัดข้องของระบบเซนเซอร์โดยเฉพาะ ระบบเซนเซอร์ป้องกันน้ำแข็ง จนทำให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้น
ทั้งนี้ ไม่ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้จะเกิดจากอะไร แต่ข้อสังเกตหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันก็คือ อุบัติเหตุเครื่องบินตกในทิศทางดิ่งลงแนวตั้งเช่นนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก และถือว่ามีความผิดปกติอย่างมาก ดังนั้นจึงยังเร็วเกินไปที่จะสรุปสาเหตุที่แน่ชัด และยังต้องรอข้อมูลที่ชัดเจนจากกล่องดำ เพื่อไขปริศนาโศกนาฏกรรมของเครื่องบินที่ถือว่าเป็นรุ่นที่ปลอดภัยที่สุดรุ่นหนึ่งในเวลานี้ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอยในอนาคต.
...
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
ที่มา : บลูมเบิร์ก , เดลี่เมล