• ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาราคาพลังงานพุ่งสูง หลังจากราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากบุกโจมตียูเครน จนถูกสหรัฐฯ และชาติตะวันตกคว่ำบาตรอย่างหนัก รวมถึงในเรื่องการส่งออกพลังงาน

  • สหรัฐฯ และชาติยุโรป กำลังหาทางแก้ปัญหาพลังงานแพงในประเทศ ซึ่งหนึ่งในทางออกคือการเพิ่มอุปทานน้ำมันในตลาดโลก พวกเขาจึงหันหน้าเข้าหากลุ่ม OPEC+ เพื่อขอให้เพิ่มกำลังผลิตน้ำมันมากขึ้น

  • แต่จนถึงตอนนี้ กลุ่ม OPEC+ รวมถึงประเทศที่เป็นความหวังของหลายคนคือ ซาอุดีอาระเบีย ยังไม่มีความเคลื่อนไหว พวกเขาตัดสินใจรอดูท่าทีไปก่อน ดีกว่ารีบเร่งขยับและเสี่ยงทำให้กลุ่มต้องแตกแยก

สถานการณ์สู้รบในยูเครน ซึ่งเริ่มขึ้นหลังรัสเซียเปิดฉากยกทัพบุกโจมตีเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน ทำให้สหรัฐฯ และชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรด้านการส่งออกพลังงานของมอสโกเพื่อเป็นการตอบโต้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกที่แนวโน้มกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนช่วงหนึ่งทะลุ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับอุปทานในตลาดโลกที่จำกัด

หนึ่งในทางออกที่สหรัฐฯ และยุโรปคาดหวังว่าจะช่วยแก้สถานการณ์นี้ได้คือ การให้กลุ่ม OPEC+ (โอเปคพลัส) ซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ในโลกอาหรับและรัสเซีย เพิ่มกำลังผลิตน้ำมันเพื่อคุมราคาไม่ให้พุ่งสูง โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ยังมีกำลังผลิตน้ำมันสำรองมากพอ แต่จนถึงตอนนี้ทั้งสองประเทศคงยืนยัน ยึดมั่นในข้อตกลงของกลุ่มที่จะค่อยๆ เพิ่มกำลังผลิตทีละน้อย

เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม นายยูเซฟ อัล โอไตบา เอกอัครราชทูตยูเออีประจำสหรัฐฯ บอกกับซีเอ็นเอ็นว่า ประเทศของเขาสนับสนุนการเพิ่มกำลังผลิตน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ร่วงทันที 13% แต่ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา รัฐมนตรีพลังงานของยูเออี ก็ออกมายืนยันว่า พวกเขาจะทำตามข้อตกลงของกลุ่ม OPEC+ ทำให้ราคาน้ำมันดีดขึ้นอีกครั้ง ตอกย้ำถึงความไม่แน่นอนในตลาด ที่สัญญาณเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ทิศทางของราคาเปลี่ยนแปลงไป

แต่การเข้าแทรกแซงของกลุ่ม OPEC+ จะช่วยให้ราคาน้ำมันโลกลดลงได้จริงหรือ หากจริง ทำไมพวกเขาจึงไม่เคลื่อนไหว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทข้อมูลพลังงานชั้นนำอย่าง Energy Intelligence เตือนว่า หากซาอุดีอาระเบีย หรือยูเออี ตัดสินใจเพิ่มกำลังผลิตโดยไม่สนข้อตกลง อาจนำไปสู่การแตกแยกของกลุ่ม OPEC+ ก็เป็นได้

...

โลโก้ของกลุ่ม OPEC
โลโก้ของกลุ่ม OPEC

จุดยืนของ OPEC+ ต่อราคาน้ำมันโลกตอนนี้

ตอนนี้กลุ่ม OPEC+ ยังสงวนท่าที โดยให้เหตุผลว่า การที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงเป็นผลจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนอุปทานในตลาด ซึ่งปัญหาความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นสิ่งที่พวกเขาควบคุมไม่ได้ ซึ่งก็จริงในระดับหนึ่ง

แต่นางอาเมนา บัคร์ หัวหน้าผู้สื่อข่าวโอเปคของ Energy Intelligence เชื่อว่า อีกหนึ่งเหตุผลที่ OPEC+ ยังไม่เคลื่อนไหว เพราะสมาชิกสำคัญของพวกเขาคือรัสเซีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และชาติสมาชิก OPEC โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ต้องการให้รัสเซียอยู่ร่วมกับพวกเขาต่อไป จึงพยายามหลีกเลี่ยงการออกนโยบายที่จะทำให้รัสเซียตีตัวออกห่าง

ดังนั้น OPEC+ จะรอดูท่าทีไปก่อนจนกว่าพวกเขาจะสามารถหาคำตอบได้ว่า การส่งออกน้ำมันของรัสเซียได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรมากแค่ไหน และจะเคลื่อนไหวไปตามนั้น

ใช้กำลังผลิตสำรองคือทางออก?

ในบรรดาชาติสมาชิกโอเปค มีเพียง 2 ประเทศที่มีกำลังผลิตน้ำมันสำรองมากพอจะสร้างความแตกต่าง คือ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยซาอุฯ มีกำลังผลิตสำรองอยู่ที่ราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ยูเออีมีประมาณ 600,000-700,000 บาร์เรลต่อวัน แต่พวกเขาเตือนว่า การใช้กำลังผลิตสำรองจนหมด มันจะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลง การรอให้สถานการณ์สงบลงแล้วค่อยมีการเคลื่อนไหว จึงเป็นความคิดที่ดีกว่า

นอกจากนั้น การใช้กำลังผลิตสำรองก็ไม่อาจแทนที่น้ำมันของรัสเซียที่ขาดหายไปได้ โดยก่อนจะเกิดสงครามในยูเครน รัสเซียส่งออกน้ำมันเกือบ 4.8 ล้าน ถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจากประสบการณ์ในอดีต เมื่อ OPEC เพิ่มกำลังผลิตน้ำมันในขณะที่มีความไม่แน่นอนสูง ราคาก็มักจะเพิ่มสูงขึ้น

นางบัคร์บอกด้วยว่า แม้ OPEC จะแสดงท่าทีว่าสนับสนุนฝ่ายใดมากกว่าใคร ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดมากอย่างที่หลายคนคิดกัน ดูตัวอย่างได้จากตอนที่สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ประกาศปล่อยน้ำมันสำรอง 60 ล้านบาร์เรลสู่ตลาดเมื่อ 1 มี.ค. ราคากลับพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากมันสร้างความตื่นตระหนกแก่ตลาด ไม่ได้ทำให้สงบลง

...

ฝืนเพิ่มการผลิต อาจทำให้กลุ่ม OPEC+ แตก

ในอดีตซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของกลุ่ม OPEC เคยทำให้เกิดภาวะตลาดช็อกมาแล้ว ด้วยการเพิ่มกำลังผลิตเพื่อลดราคาน้ำมันลง ส่วนหนึ่งก็เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ แต่ตอนนี้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะกับรัฐบาลไบเดน ไม่สู้ดีนัก และตั้งแต่ปี 2559 ซาอุฯ ก็เริ่มหันไปร่วมมือกับชาติสมาชิก OPEC+ ซึ่งรวมถึงรัสเซียมากขึ้น

ขณะที่หนึ่งในบทเรียนสำคัญที่ซาอุฯ ได้รับจากปัญหาที่กลุ่ม OPEC+ เผชิญในช่วงปี 2563 ซึ่งรวมถึงการแตกแยกกันภายใน และการทำสงครามราคาน้ำมันกับรัสเซียคือ การร่วมมือด้านพลังงานกับรัสเซียจะให้ประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายมากกว่า การที่ซาอุฯ จะเคลื่อนไหวแต่เพียงฝ่ายเดียว เพิ่มกำลังผลิตน้ำมันโดยขัดแต่แผนงานของกลุ่มนั้น อาจถูกรัสเซียมองว่าเป็นความพยายามเล่นงานพวกเขาทางการเงิน และมีความเป็นไปได้สูงที่มอสโกจะถอนตัวออกจาก OPEC+

นอกจากนั้น ในการลงมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย มีชาติสมาชิก OPEC+ จำนวนมากที่งดออกเสียง ซึ่งหมายความว่าพวกเขาพยายามที่จะเป็นกลาง หรืออาจจะเอนเอียงเข้าหารัสเซีย ทำให้ประเทศในกลุ่ม OPEC+ ที่จะคัดค้านการเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันไม่มีเพียงรัสเซีย แต่ยังรวมถึงชาติเหล่านี้ด้วย

...

นิโคลัส มาดูโร ผู้นำเวเนซุเอลา
นิโคลัส มาดูโร ผู้นำเวเนซุเอลา

เวเนซุเอลาช่วยได้หรือไม่?

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ซาอุดีอาระเบียปฏิเสธคำขอเจรจาเรื่องการเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯ ทำให้รัฐบาลไบเดนต้องมองหาทางเลือกอื่น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เวเนซุเอลา อดีตประเทศเศรษฐีน้ำมันที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรอย่างหนัก พวกเขาส่งผู้แทนไปเจรจาเพื่อขอให้เพิ่มปริมาณน้ำมันเข้าสู่ตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันในสหรัฐฯ ด้วย

เวเนซุเอลามีปริมาณน้ำมันสำรองขนาดใหญ่ โดยก่อนที่การผลิตจะถูกกัดเซาะด้วยปัญหาคอร์รัปชันในประเทศ และการคว่ำบาตรทางการเงิน พวกเขาสามารถผลิตน้ำมันได้เกือบ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุปกรณ์สำหรับการผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลาสึกหรอไปมาก จนตอนนี้พวกเขาผลิตน้ำมันได้เพียงไม่เกิน 688,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น และส่วนใหญ่ส่งออกไปจีน อีกนิดหน่อยส่งไปรัสเซียกับอิหร่านเพื่อใช้หนี้

อัตราการผลิตในปัจจุบันของเวเนซุเอลาไม่ได้มากมายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว และเทียบไม่ได้เลยกับกำลังน้ำมันที่รัสเซียผลิตป้อนสู่ตลาดโลกและสหรัฐฯ ในขณะที่กลุ่ม OPEC+ ก็ไม่อาจทำอะไรได้มากนัก เพราะต้นเหตุของปัญหาไม่ใช่พวกเขา แต่เป็นสงครามต่างหาก.





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา : DW, CNNgzeromedia

...

กราฟิก : Varanya Phae-araya