ยูเครนแย้มเจรจารัสเซียสร้างสรรค์ขึ้น “เซเลนสกี” โน้มน้าวทหารหมีรักษาเกียรติวางอาวุธ ประเมินกำลังฝ่ายรุกรานลากยาวไปยัน พ.ค. พร้อมส่งนักรบซีเรียหนุนอีก 4 หมื่นนาย โฆษกรัสเซียโต้สหรัฐฯ-อียูปล่อยเฟกนิวส์ทำลายภาพผู้นำ ยัน “ปูติน” ห่วงชีวิตพลเรือนกำชับมั่นไม่รวบรัดเผด็จศึกยึดเมืองหลวง ทูตหมีขาวชมเปาะไทยวางตัวเป็นกลางอย่างสมดุล เข้าใจหัวอกโดนกดดันยกมือหนุนมติยูเอ็น อ้างเลี่ยงโจมตีเป้าพลเรือนที่ยูเครนใช้เป็นเกราะกำบังถึงสูญเสียทหาร ขณะที่ 3 นายกฯยุโรปประกาศนั่งรถไฟเย้ย “ปูติน” ให้กำลังใจผู้นำยูเครนกลางกรุงเคียฟ

สงครามในยูเครนล่วงเลยเข้าสู่วันที่ 20 อย่างเป็นทางการ ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ หลังมีสัญญาณการเจรจาไม่ลงตัวต้องพักเบรกกลางคัน ก่อนเจรจากันต่อ ขณะที่ปฏิบัติการทางด้านข่าวสารสร้างความชอบธรรมของแต่ละฝ่ายเกิดขึ้นคู่ขนานไม่แพ้การสู้รบเอกอัครราชทูตรัสเซีย ประจำประเทศไทยออกโรงชื่นชมท่าทีรัฐบาลไทยวางตัวเป็นกลางภายใต้กระแสกดดัน ไม่ติดใจร่วมลงมติสมัชชายูเอ็นประณามรัสเซีย

...

ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ว่า การเจรจาระหว่างตัวแทนรัสเซีย-ยูเครน ในรูปแบบออนไลน์ เมื่อคืนวันที่ 14 มี.ค. ได้เข้าสู่ช่วงพักเบรกกลางคัน โดยนายมิคาอิล โปโดลยัก ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน เปิดเผยเพียงว่าต้องพักเบรกชั่วคราวเนื่องด้วยปัญหาทางเทคนิค และจัดประชุมกันต่อในวันที่ 15 มี.ค.แต่รัสเซียหารืออย่างสร้างสรรค์มากขึ้น

นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ออกแถลงการณ์ต่อมา เรียกร้องให้ทหารรัสเซียวางอาวุธ รักษาเกียรติแห่งความเป็นทหารไว้ ด้วยการหยุดทำสงครามอันน่าอับอายครั้งนี้ แต่พูดถึงการเจรจาที่ชะงักงันเพียงว่าดีขึ้นมาก ขณะที่นายโอเลกเซย์ อาเรสโตวิช ที่ปรึกษาคณะเสนาธิการร่วมของประธานาธิบดียูเครน ประเมินว่าทรัพยากรกองทัพรัสเซียจะหมดภายในต้นหรือสิ้นเดือน พ.ค. และตอนนั้นเราก็คงได้ข้อตกลงสันติภาพกัน ยกเว้นรัสเซียจะทุ่มกำลังเข้ามาอีกรอบ พร้อมกับการส่งนักรบอาสาซีเรีย ซึ่งกลุ่มเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนในซีเรีย ระบุด้วยว่า มีชาวซีเรียอาสาเข้าร่วมกับกองทัพรัสเซียแล้วกว่า 40,000 คน แต่ยังไม่ออกเดินทางมายูเครน

ในวันเดียวกัน มีรายงานด้วยว่า กองทัพรัสเซียได้เข้ายึดครองเมืองเคียร์ซอน เส้นทางคมนาคมหลักทางภาคใต้ของยูเครนไว้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งกระทรวงกลาโหมอังกฤษประเมินจากข้อมูลเบื้องต้นว่า รัสเซียอาจพยายามจัดทำประชามติเหมือนกับกรณีคาบสมุทรไครเมีย และสองจังหวัดตะวันออกของยูเครนคือโดเนตสก์และลูฮานสก์ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวมีความชอบธรรมที่จะแยกตัวออกจากยูเครน กระทรวงกลาโหมเพนตากอนสหรัฐฯ ประเมินว่ากองทัพรัสเซียใช้ขีปนาวุธและจรวดโจมตียูเครนแล้วกว่า 900 ครั้ง ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เห็นชัดว่ารัสเซียยิงอย่างไม่แยกแยะมากขึ้น เพื่อกำราบพื้นที่ชุมชนให้เสียขวัญกำลังใจและยอมจำนน

ขณะที่นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯและชาติยุโรปพยายามยั่วยุรัสเซียอย่างมาก ปล่อยข่าวว่านายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กำลังหงุดหงิดกับความล่าช้าของปฏิบัติการ จนเกิดอาการฟาดงวงฟาดงา สั่งให้สร้างความเสียหายแก่แผ่นดินยูเครนให้มากที่สุด ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ประธานาธิบดีปูตินกำชับกระทรวงกลาโหมรัสเซียอย่างชัดเจน ให้หลีกเลี่ยงการส่งกำลังบุกเมืองใหญ่ ซึ่งรวมถึงกรุงเคียฟในทันที เนื่องด้วยกองทัพยูเครนวางกำลังและยุทโธปกรณ์หนักตามพื้นที่อยู่อาศัย อีกทั้งปฏิบัติการทางทหารในตัวเมือง ย่อมตามมาด้วยการสูญเสียชีวิตพลเรือนจำนวนมาก กองทัพรัสเซียวางแผนทุกอย่างตามโจทย์นี้

...

ที่สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย จัดแถลงข่าวชี้แจงสื่อมวลชนไทยถึงสถานการณ์ที่กำลังดำเนินไป โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานแถลงข่าวครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก จนเจ้าหน้าที่สถานทูตต้องคัดกรองว่าสื่อไหนให้เข้าไม่ให้เข้า พร้อมชี้แจงว่า เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ขณะที่ในบริเวณด้านหน้าสถานทูต ได้มีกลุ่มชาวต่างชาติชายหญิง 12 คน ถือธงชาติยูเครน พร้อมภาพความเสียหายของสงคราม ตะโกนบอกผู้มาร่วมงานว่า อย่าไปฟังโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลรัสเซีย ทวงความยุติธรรมให้ชาวยูเครน

ต่อมาภายในงานแถลงข่าวนายโทมิคินกล่าวว่าวันนี้จะขอตอบคำถามและเปิดใจรับฟัง เพราะรู้ว่าพี่น้องสื่อมวลชนบางคนโพสต์อะไร มีจุดยืนเช่นไร เมื่อสื่อถามว่า รู้สึกเช่นไรกับท่าทีของรัฐบาลไทยในขณะนี้ เอกอัครราชทูตรัสเซียตอบว่า รัสเซียเคารพจุดยืนของเพื่อนทุกคน หลักการทูตของรัสเซียคือไม่ยุ่งเกี่ยวกิจการภายในของประเทศนั้นๆ และเราขอขอบคุณที่ไทยมีท่าทีสมดุลท่ามกลางแรงกดดันจากชาติตะวันตก

เมื่อถามว่าคิดเช่นไรกับการที่รัฐบาลไทยร่วมโหวตสนับสนุนมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ประณามรัสเซียรุกรานยูเครนและเรียกร้องให้ถอนทหารโดยทันที นายโทมิคินกล่าวว่า รัสเซียเข้าใจรัฐบาลไทย ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะเราทราบว่า รัฐบาลสหรัฐฯสั่งให้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯที่อยู่ในประเทศต่างๆกดดันรัฐบาล สิ่งที่สหรัฐฯทำอยู่ขณะนี้คือการระดมพันธมิตรต่อต้านรัสเซียที่เตรียมการมานาน อย่างข้อตกลงออกัส สหรัฐฯ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย หรือการรวมกลุ่มควอด สหรัฐฯ-ออสเตรเลีย-อินเดีย-ญี่ปุ่นนั่นก็ใช่

...

ถามว่าหลังจากนี้หากไทยเปลี่ยนท่าทีแล้วจะถูกรัสเซียตีตราว่าเป็นประเทศที่ไม่เป็นมิตรต่อรัสเซีย เหมือนดังที่มีข่าวรายชื่อ 22 ประเทศหรือไม่เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยตอบว่า รัสเซียได้เห็นความพยายามสร้างสมดุลของรัฐบาลไทย จึงมองว่าไม่จำเป็นที่วันนี้จะต้องมาพูดกันเรื่องนี้ เราอยากขอขอบคุณทุกหน่วยงานของไทยที่ประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่ประสบปัญหาจากมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต สมุย พัทยา เชียงใหม่ เรื่องการส่งนักท่องเที่ยวรัสเซียกลับประเทศไม่มีปัญหา เพราะมีการวางระบบกับไทยไว้แล้วตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ติดอยู่คือเรื่องเกี่ยวกับวีซ่าซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานแก้ไขกันอยู่ และอยากขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย ที่ช่วยมาดูแลความเรียบร้อยพื้นที่สถานทูตรัสเซียช่วงการชุมนุมประท้วง

นายโทมิคินยังตอบคำถามเรื่องสงครามด้วยว่า ที่เรียกว่าปฏิบัติการทางทหาร ก็เพราะไม่ได้มีการประกาศสงคราม อย่างสหรัฐฯรุกรานอัฟกานิสถานเมื่อปี 2544 ก็ไม่เห็นจะมีการประกาศสงคราม และสาเหตุที่ทหารรัสเซียเกิดความสูญเสีย ก็เพราะมีคำสั่งชัดว่าต้องไม่โจมตีเป้าหมายพลเรือน รู้ไหมว่ากองทัพยูเครนวางกำลังปะปนกับพลเรือน หรือตั้งกำลังไว้ใกล้กับพื้นที่ชุมชน โรงเรียนอนุบาล รัสเซียอยากให้สถานการณ์จบเร็ว แต่ชาติตะวันตกก็ยังส่งอาวุธ ส่งทหารอาสาให้ยูเครน เมื่อถามว่าเมื่อไรสงครามจะจบ นายโทมิคินบอกว่า ตอบไม่ได้เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ รัฐบาลรัสเซียไม่ได้กำหนดไทม์ไลน์ กำหนดระยะเวลา มีแต่กำหนดภารกิจ คือปฏิบัติการเพื่อลดอิทธิพลทางการทหารของยูเครน และปราบกลุ่มการเมืองเผด็จการชาตินิยม และหากไทยจะส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวยูเครน รัสเซียก็ขอขอบคุณ

...

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างการเปิดเผยของรัฐบาลยูเครนว่า นายปีเตอร์ เฟียลา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก นายมาเทอุซ มอราวีแยตสกี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ และนายยาเนส ยานซา นายกรัฐมนตรีสโลวีเนีย อยู่ระหว่างเดินทางข้ามพรมแดนโปแลนด์และมุ่งหน้ามายังกรุงเคียฟด้วยรถไฟ โดยมีกำหนดเข้าพบกับนายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เพื่อแสดงจุดยืนว่ารัฐบาลยุโรปสนับสนุนอธิปไตยและเอกราชของยูเครนอย่างไร้ข้อกังขา แต่ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า ไม่แน่ชัดว่าการเยือนครั้งนี้จะมีอันตรายมากน้อยเพียงใด เพราะกองทัพรัสเซียอยู่ระหว่างการปิดล้อมกรุงเคียฟ