รัสเซียยึดครองเมืองท่า “เคียร์ซอน” จับตายูเครนต้านหนัก ทัพ “ปูติน” ยกระดับถล่ม เฟส 2 พุ่งเป้าบดขยี้ “เคียฟ” ราบเป็นหน้ากลอง ขู่ยิงขีปนาวุธเตือนพลเรือนรีบอพยพ ระดมพลร่มหมีขาวร่อนลงเมืองคาร์คีฟ ยูเอ็นนับเหยื่อสงครามอย่างน้อย 136 ศพ อ้างมีเด็กถึง 13 ราย ยูเครนแจ้งยอด 350 ศพ ยักษ์ใหญ่โบอิ้ง-แอร์บัสตัดสัมพันธ์ธุรกิจการบินรัสเซีย ผู้นำหมีขาวออกอาการปิดตลาดหุ้นต่อเนื่อง ห้ามพกดอลลาร์ออกนอกประเทศเกินหมื่นเหรียญ ป่าวประกาศพร้อมเจรจารอบ 2 ขณะที่ 96 คนไทยชุดแรกบินกลับบ้านเรียบร้อยแล้ว สาวไทยเล่าวินาทีรอดชีวิตจากกรุงเคียฟ ลงอุโมงค์หลบภัย ฝ่าความหนาว แบ่งน้ำกินทีละฝา พอพ้นพื้นที่นรก ต้องรีบโผกอดร้องไห้ดีใจกับคนไทยด้วยกัน
...
ครบ 1 สัปดาห์ สำหรับสงครามในยูเครน ภูมิภาคยุโรปตะวันออก กองทัพรัสเซียเตรียมปฏิบัติการ “เฟส 2” ยกระดับการรุกหนักขึ้นหวังปิดเกมเบ็ดเสร็จ ท่ามกลางประชาคมโลกออกมาตรการกดดันรุมเล่นงานทางเศรษฐกิจ ขณะที่ยอดผู้อพยพหนีภัยสงครามพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จับตาทัพรัสเซียแก้ปัญหาเสบียง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. หรือวันที่ 7 ของปฏิบัติการรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซีย สำนักข่าวต่างประเทศรายงานอ้างการข้อมูลหน่วยข่าวกรองของกระทรวงกลาโหมอังกฤษ ระบุว่า แม้ก่อนหน้านี้ 1 วัน จะมีรายงานการเคลื่อนพลขนานใหญ่ของกองทัพรัสเซียจากพรมแดนทางตอนเหนือของยูเครนมุ่งสู่กรุงเคียฟ เป็นขบวนยาวกว่า 64 กิโลเมตร แต่ปรากฏว่า กองกำลังดังกล่าวยังเคลื่อนไหวอย่างจำกัดในพื้นที่แนวรบ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจประสบปัญหาเรื่องการส่งกำลังบำรุง และอยู่ระหว่างการแก้ไข รวมถึงเผชิญกับการต้านทานอย่างหนักหน่วงจากกองทัพยูเครน กระนั้นเชื่อว่ากำลังดังกล่าวอาจมีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติมภายใน 48-72 ชั่วโมง
มองการรบเฟส 2–อย่าบีบปูตินมากไป
จากการประเมินสถานการณ์ของนักวิเคราะห์ความมั่นคงอังกฤษ ยังเชื่อว่า การรบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่ากองทัพรัสเซียยังไม่นำอาวุธที่เลวร้ายกว่านี้มาใช้ในการรบ แต่ยังอยู่ในทิศทางนี้ต่อไป มีแนวโน้มว่าการรบในขั้นตอนที่ 2 หรือเฟส 2 หลังจากนี้ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้ พร้อมมองว่าสิ่งสำคัญในตอนนี้คือชาติตะวันตกควรรักษาสมดุลเรื่องการบีบคั้นรัสเซีย เพื่อให้นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ยุติสงคราม ไม่ใช่การบีบคั้นในระดับที่มากเกินไป จนนำไปสู่จุดที่ยากจะหวนกลับ เพราะเชื่อว่านายปูตินยอมที่จะบดขยี้ยูเครนให้ราบคาบ ดีกว่าปล่อยให้ตกไปเป็นของชาติตะวันตก อีกทั้งตอนนี้เชื่อว่ากลุ่มที่ปรึกษาคนสนิทไม่มีใครกล้าที่จะเตือนนายปูตินให้ใช้ความระมัดระวังแล้ว
ยังมีอาวุธเก็บไว้–งงไม่ครองน่านฟ้า
แม้ยังไม่ชัดว่าอาวุธที่เลวร้ายในที่นี้คืออะไร แต่ดูข้อมูลทางความมั่นคง กองทัพรัสเซียยังมีจรวดสนับสนุนการรบภาคพื้นดินอย่างทอส-1 บูราติโน ที่สามารถยิงถล่มฐานที่มั่นไปจนถึงยานเกราะและรถถังได้ราบเป็นหน้ากลอง ด้วยหัวรบระเบิดเพลิงสุญญากาศที่มีอานุภาพรุนแรงยิ่งกว่านาปาล์ม หรือรถถังรุ่นใหม่อย่างที-14 อาร์มาตา ที่มีระบบป้องกันอาวุธต่อต้านรถถัง ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯ ยังสงสัยอยู่ว่า การรบในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียทำไมถึงไม่ได้ใช้กองทัพอากาศอย่างเต็มความสามารถ จากการตรวจสอบพบมีการใช้เครื่องบินรบในยูเครนเพียงแค่ 75 ลำ ทั้งที่ตามหลักความเป็นจริงจะต้องใช้กำลังอย่างเต็มที่เพื่อครองน่านฟ้า ซึ่งสิ่งที่ตามคือการครองสนามรบ เพราะเครื่องบินจะสามารถทิ้งระเบิดเป้าหมายทางภาคพื้นดินได้อย่างเต็มที่
เตือนกรุงเคียฟอพยพ–เริ่มถล่ม
ในช่วงเช้าวันเดียวกัน กระทรวงกลาโหมรัสเซียแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการ ให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเคียฟทำการอพยพออกจากเมืองหลวง เนื่องจากกองทัพรัสเซียจะเริ่มปฏิบัติการโจมตีด้วยขีปนาวุธที่มีความแม่นยำสูงต่อเป้าหมายการสื่อสาร และปฏิบัติการทางจิตวิทยาของกองทัพยูเครน ซึ่งต่อมาอีกไม่กี่ชั่วโมงการโจมตีก็ได้เริ่มขึ้น โดยมีรายงาน เคียฟ ทีวี ทาวเวอร์ เสาสัญญาณวิทยุและโทรศัพท์ สูง 385 เมตร ซึ่งในอดีตเคยเป็นเสาเหล็กที่สูงที่สุดในโลก (ปัจจุบันเป็นรองโตเกียวสกายทรี) ถูกยิงเสียหาย เช่นเดียวกับอาคารราชการหลายแห่ง เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 5 คน การถ่ายทอดของสื่อยูเครนถูกตัดขาดชั่วคราว
...
ซากยานเกราะเกลื่อนชานเมือง
ต่อมามีรายงานว่าหน่วยรบรัสเซียบางส่วนทางตอนเหนือกรุงเคียฟได้เริ่มเคลื่อนกำลัง โดยมุ่งเน้นการโจมตีทางตะวันตกของกรุงเคียฟ ในลักษณะโอบล้อม แต่ยังไม่ชัดเจนว่าใช้กำลังมากน้อยพียงใด แต่มีภาพข่าวแสดงให้เห็นขบวนยานเกราะและรถบรรทุกของรัสเซียกว่า 7 คัน ถูกทำลายจนไหม้เกรียมอยู่บนถนนแคบๆในพื้นที่เมืองบูช่า ชานกรุงเคียฟ เช่นเดียวกับภาพรถลำเลียงพลถูกทำลายในย่านอื่นๆ กระนั้นก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นหน่วยรบของรัสเซียที่รุกเข้ามาตั้งแต่ช่วงวันแรกๆของสงคราม หรือเป็นกำลังพลชุดใหม่ที่ส่งเข้ามาเสริมกำลังหรือไม่
พลร่มรัสเซียบุกเข้าเมืองคาร์คีฟ
ขณะที่บรรยากาศการรบในภูมิภาคอื่นของยูเครนยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยจากกรณีวันก่อน ที่กองทัพรัสเซียปฏิบัติการโจมตีเมืองคาร์คีฟเมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน ทางภาคตะวันออกเฉียง เหนือด้วยขีปนาวุธและมิสไซส์หลายชนิด มีศาลาว่าการคาร์คีฟพังเสียหาย รวมถึงสำนักงานตำรวจ ซึ่งเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 21 ศพ และอาจเพิ่มขึ้น บาดเจ็บกว่า 100 คน ปรากฏว่าไม่นานหลังจากนั้น หน่วยทหารพลร่มรัสเซียก็ได้เปิดฉากรุกเข้าในตัวเมืองแล้ว พร้อมมีรายงานโรงพยาบาลทหาร สถานีสื่อสารถูกยึด
ยึดเมืองใหญ่สำเร็จเป็นครั้งแรก
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ของยูเครนปฏิบัติการรุกของกองทัพรัสเซียยังคงไหลเหมือนสายน้ำ มีรายงานกองทัพยูเครนสูญเสียพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงบ่ายวันที่ 2 มี.ค. มีรายงานว่าเมืองเคียร์ซอน เมืองท่าสำคัญบริเวณปากแม่น้ำนีเปอร์ออกสู่ทะเลดำมีประชากรกว่า 300,000 คน ได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพรัสเซียแล้ว ถือเป็นเมืองใหญ่เมืองแรกที่สูญเสียให้กับรัสเซีย ขณะที่นักวิเคราะห์ความมั่นคง มองว่าเคียร์ซอน นับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับรัสเซีย เนื่องจากเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักสำหรับมุ่งสู่ภาคตะวันตกของยูเครน ทั้งยังเป็นเมืองส่งน้ำหล่อเลี้ยงคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งหลังจากรัสเซียเข้าผนวกดินแดนไครเมียเมื่อปี 2557 รัฐบาลยูเครนได้สร้างเขื่อนสกัดน้ำธรรมชาติไหลเข้าสู่ไครเมีย พร้อมทั้งสั่งตัดการส่งน้ำจนไครเมียเผชิญปัญหาน้ำขาดแคลนมานานกว่า 8 ปี
...
พลเรือนตายอื้อ–ผู้อพยพพุ่ง
ด้านสหประชาชาติรายงานว่าสถานการณ์การสู้รบในยูเครนส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 136 คน ในจำนวนนี้เชื่อว่าเป็นเด็ก 13 คน บาดเจ็บมากกว่า 400 คน แต่ยอดตาย-เจ็บที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้ ส่วนยอดผู้อพยพภัยสงครามยังคงเพิ่มไม่หยุด มีพลเรือนหนีออกนอกประเทศไปแล้วกว่า 680,000 คน ขณะที่รัฐบาลยูเครนระบุว่า มีพลเรือนเสียชีวิตจากไฟสงครามมากกว่า 350 คน บาดเจ็บกว่า 1,680 คน
โบอิ้ง–แอร์บัสระงับส่งอะไหล่
วันเดียวกัน บรรยากาศกดดันรัฐบาลรัสเซียจากนานาชาติยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศห้ามเครื่องบินรัสเซียทุกประเภทใช้น่านฟ้าสหรัฐฯ ขณะที่โบอิ้ง บริษัทการบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศระงับความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนรัสเซีย ระบุจะหยุดการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค การส่งอะไหล่ หรือการซ่อมบำรุง เช่นเดียวกับบริษัทการบินแอร์บัสในยุโรป ที่สั่งระงับการส่งอะไหล่-ซ่อมบำรุง ซึ่งทั้งนี้ สายการบินแห่งชาติรัสเซียแอร์โรฟลอต ใช้เครื่องบินของโบอิ้งและแอร์บัสเกือบทั้งหมด ไม่ว่าแอร์บัสเอ320-200 เอ321-200 เอ330-300 หรือโบอิ้ง737-800 และ 777-300อีอาร์
...
ห้ามนำเงินสดออก–ตลาดหุ้นยังปิด
ส่วนนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ออกคำสั่งประธานาธิบดีห้ามประชาชนนำเงินสดสกุลเงินต่างชาติออกนอกประเทศเกินกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 320,000 บาท และธนาคารกลางรัสเซีย ประกาศระงับเปิดตลาดหุ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ทั้งช่วงก่อนปิดตลาด ยังสั่งระงับต่างชาติเทขายหุ้นด้วยเช่นกัน
96 คนไทยบินกลับบ้านเรียบร้อย
ช่วงเช้า ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมการกงสุล พล.ท.ณรงค์ พฤกษารุ่งเรือง ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ศูนย์ปฏิบัติการท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ร่วมกันต้อนรับคณะคนไทยที่อพยพหนีภัยสงครามจากประเทศยูเครนกลับประเทศไทย 2 เที่ยวบิน รวม 96 คน เที่ยวบินแรก 38 คน เดินทางโดยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG923 จากกรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ถึงเวลา 06.25 น. อีก 58 คน เดินทางมากับสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบินที่ EK384 จากกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ถึงเวลา 12.05 น.ทั้งหมดขึ้นรถบัสไปที่สถาบันบำราศนราดูร ภายในกระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ อ.เมืองนนทบุรี ตรวจเชื้อโควิดนายกิตติพงศ์กล่าวว่า ทสภ.เตรียมความพร้อมประสานทุกหน่วยงาน สนับสนุนภารกิจช่วยเหลือคนไทยที่ประสบภัยในต่างประเทศให้เดินทางกลับอย่างปลอดภัย สอบถามเที่ยวบินอพยพคนไทยจากยูเครนได้ที่ AOT Contact Center 1722 ตลอด 24 ชม.
แรงงานมอบเงินช่วยหัวละหมื่นห้า
ที่สถาบันบำราศนราดูร นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงานและผู้บริหารกระทรวง กล่าวภายหลังไปให้กำลังใจแรงงานไทยที่ร่วมเดินทางกลับมากับคณะคนไทย 96 คน ว่า มีแรงงานไทยแจ้งการทำงานในยูเครนกับกรมการจัดหางานไว้ทั้งสิ้น 139 คน ส่วนใหญ่ทำงานนวดสปาและเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ 126 คน จำนวน 96 คนที่กลับมาวันนี้เป็นสมาชิกกองทุน 69 คน ตนได้มอบเงินสงเคราะห์จากกองทุนรายละ 1.5 หมื่นบาท ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุน กระทรวงแรงงานจะช่วยเหลือด้านอื่นแทน
หมอนวดเผยประสบการณ์หนีตาย
น.ส.สุภาพ โพธิลเดา อายุ 46 ปี ชาว จ.มหาสารคาม กล่าวว่า เดินทางไปทำงานนวดสปา ที่เมืองโอเดสซาในยูเครนนาน 7 เดือน นายจ้างเป็นชาวยูเครน มีเพื่อนคนไทยทำงานด้วยกัน 5 คน แต่เมืองโอเดสซาไม่ได้อยู่ใจกลางการปะทะจึงยังรู้สึกว่ายังปลอดภัย จนวันหนึ่งในช่วง 10 โมงเช้า ขณะกินข้าวเกิดระเบิดสนั่นหวั่นไหวแม้จะไกลแต่แรงสะเทือนทำให้เสียงสัญญาณเตือนดังลั่นต้องหลบลงใต้โต๊ะ หลังจากนั้น 2 วัน มีเสียงปืนดังเป็นระยะมีระเบิดมาตกในเมืองอีกลูก จึงบอกนายจ้างว่าอยู่ไม่ได้แล้วจะกลับไทย การเดินทางต้องใช้ทางรถไฟเท่านั้น แม้ระยะทางไม่ไกลแต่มีการตรวจบ่อยมาก หลังข้ามชายแดนเข้าโรมาเนียได้รับการดูแลดีมาก ดีใจมากที่ได้กลับบ้าน แต่ตอนนี้ยังกลับบ้านไม่ได้เพราะทั้งแม่ ลูกสาว และน้องชาย ติดโควิดทุกคน ต้องไปพักที่อื่นก่อน
พ้นวินาทีชีวิตกอดคอกันร้องไห้
น.ส.ทิญาทนี พลหาญ อายุ 52 ปี ชาว จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ไปทำงานในเมืองเคียฟนาน 2 ปี และได้กลับไทยแล้วไปอีกได้ 6 เดือน เมืองที่ตนอยู่มีเสียงระเบิดเสียงปืนดังอยู่ตลอดเวลา น่ากลัวมาก ระเบิดตูมแรกวันที่ 24 ก.พ. ประมาณตี 4 ครึ่ง ต้องลงหลุมหลบภัย ต้มไข่เป็นเสบียงประทังชีวิตเพราะไม่มีของขาย ทุกร้านปิดหมด จากนั้นได้เตรียมข้าวของ ยารักษาโรค ลงไปหลบในอุโมงค์รถไฟไต้ดิน ซึ่งอากาศหนาวมาก น้ำ อาหาร แทบไม่มีกิน น้ำที่มีอยู่ต้องแบ่งกันกินคนละฝา เพราะไม่รู้ต้องติดอยู่อีกนานแค่ไหน ต้องแย่งกันขึ้นรถไฟจนมีคนตกลงไปในรางรถไฟ แต่ก็ไม่ได้รับบาดเจ็บ ด้าน น.ส.ธรรมิกา ติคำรัมย์ อายุ 35 ปี ชาว จ.นครราชสีมา เล่าวินาทีหนีตายว่า วันที่ระเบิดลงในเมืองเคียฟ 24 ก.พ. อยู่ใกล้ฐานทัพทหาร เห็นการปะทะ และเสียงระเบิดดังมาก คนในเมืองหลวงต้องหนีตาย ต้องหาทางไปสถานีรถไฟตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงสี่ทุ่ม เพื่อออกจากเมืองไปศูนย์ช่วยเหลือคนไทยที่เมืองลวิฟ พอได้เจอคนไทยด้วยกันทุกคนกอดคอกันร้องไห้ ดีใจมากที่ได้กลับบ้าน
ฝรั่งป่าตองพร้อมใจต้านสงคราม
ที่บริเวณชายหาดป่าตอง ถนนทวีวงศ์ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต กลุ่มชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยว ที่อาศัยในภูเก็ต ส่วนใหญ่เป็นชาวยูเครนและชาวรัสเซียราว 70 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ชูป้ายข้อความ ชูธงชาติยูเครน เรียกร้องให้ประธานาธิบดีรัสเซียยุติการทำสงคราม ขอให้นานาประเทศส่งความช่วยเหลือไปยังยูเครน ใช้เวลาจัดกิจกรรมประมาณ 30 นาทีก่อนแยกย้าย
ห่วงครอบครัวอยากกลับยูเครน
ขณะที่นางโอกา กอนชาโรวา ชาวยูเครน แกนนำการรวมตัว กล่าวว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่รวมกลุ่มกันต่อต้านสงคราม พวกเราไม่อยากให้เกิดสงคราม ตอนนี้มีคนตายเกิดความเสียหายจำนวนมาก นักท่องเที่ยวชาวยูเครนที่ติดอยู่ในภูเก็ตคาดว่ามีกว่า 500 คนอยากจะกลับยูเครน เพราะห่วงคนในครอบครัว แต่ก็กลัวสถานการณ์สงครามระหว่างทาง หากมีความปลอดภัยและมีโอกาส ยืนยันว่าอยากจะกลับยูเครน ส่วนการเคลื่อนไหวคงจะมีต่อไป อยากให้โลกรู้ว่าชาวรัสเซียกับชาวยูเครนต่างเป็นพี่น้องกัน ไม่ได้มีความขัดแย้งหรือมีความเกลียดชังกันแต่อย่างใด