• รัสเซียบุกยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่สุดในยุโรป จนถูกประณามอย่างหนัก หวั่นวิตกจะก่อให้เกิดความเสียหายจนสารกัมมันตรังสีรั่วไหล ซ้ำรอยหายนะภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล
  • ผู้เชี่ยวชาญชี้ รัสเซียบุกยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย ถือเป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ เพื่อหวังควบคุมพลังงานไฟฟ้าในยูเครน ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้ หลังรัสเซียเปิดฉากทำสงครามในยูเครน บุกโจมตีอย่างหนักหน่วงตั้งแต่ 24 ก.พ.65
  • หวั่นหากมีกระสุนปืนใหญ่สักลูกตกใส่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อาจทำให้เกิดความเสียหายจนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย สารกัมมันตรังสีรั่วไหล เตือนไม่ควรใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ให้กลายเป็นสมรภูมิรบ

และแล้ว รัสเซียก็เรียกเสียงประณามลั่นโลกอีกครั้ง จากการโจมตีและบุกยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ได้สำเร็จเมื่อ 5 มี.ค. 65 หลังจากทำสงคราม ส่งทหารบุกโจมตียูเครนอย่างดุเดือด เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรป ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่อาคารศูนย์ฝึกภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ หลังจากเบื้องต้น มีการเข้าใจกันว่า บริเวณที่เกิดไฟไหม้ คือเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 1 ใน 6 เตาที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซม ทำให้นานาประเทศทั่วโลกหวั่นวิตกว่าจะเกิดภัยพิบัติซ้ำรอยโศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด จนสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาในปี 1986 

โชคยังดีที่การปะทะกันระหว่างทหารรัสเซียกับยูเครนเกิดขึ้นบริเวณใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย และไม่ได้เกิดไฟไหม้ที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ในขณะที่ ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ระบุว่า ไม่พบความผิดปกติของระดับกัมมันตรังสีในบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย

...

แน่นอนว่า คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมรัสเซียจึงโจมตีและบุกยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย? เพียงไม่กี่วัน หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินเพิ่งออกมาสั่งให้กองกำลังป้องปรามด้านนิวเคลียร์ของรัสเซีย อยู่ในความเตรียมพร้อมขั้นสูง จนชาวโลกหวาดผวาอย่างหนักว่ารัสเซียกำลังใช้ 'นิวเคลียร์' มาเป็น 'ไม้ตาย' ในสงครามที่ยูเครน 

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ ในเมืองเอเนอร์โฮดาร์ แคว้นซาปอริชเชีย อยู่ห่างจากกรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 550 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเมืองเชอร์โนบิลไปทางใต้ประมาณ 525 กิโลเมตร ซึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเคยเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดของโลกในปี 1986 และขณะนี้ได้ถูกทหารรัสเซียบุกยึดได้แล้วก่อนหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย ถือเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรป สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 4 ของความต้องการกระแสไฟฟ้าทั้งหมดของยูเครน

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชียมีกำลังการผลิตรวมถึงประมาณ 6,000 เมกกะวัตต์ เพียงพอต่อสำหรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ 4 ล้านครัวเรือน

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชียคือเป้าหมายทางยุทธศาสตร์

แมทธิว บุนน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายนิวเคลียร์ และเป็นศาสตราจารย์ที่โรงเรียนฮาร์วาร์ดเคนเนดี้ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐฯ เผยว่า ดูเหมือนรัสเซียต้องการยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย แต่ไม่ได้ต้องการทำลายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้

'รัสเซียไม่ได้ยิงปืนใหญ่มาโจมตีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แต่มีการยิงปะทะกับทหารยูเครนในบริเวณพื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้า'

ศ.บุนน์ มีความเห็นว่า รัสเซียต้องการควบคุมระบบพลังงานไฟฟ้าในยูเครน ซึ่งเมื่อไฟฟ้าดับจะกระทบต่อประชาชนหลายล้านคน เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการใช้กระแสไฟฟ้าในประเทศยูเครนเลยทีเดียว

'มันคือเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่แท้จริง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย ยังตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ ซึ่งแบ่งยูเครนออกเป็นสองฝั่ง ดังนั้น นี่คือสถานที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ซึ่งรัสเซียยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชียก็ด้วยเหตุผลนี้ ไม่ใช่เพราะต้องการให้เกิดหายนภัยกัมมันตรังสีจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์' ศ.บุนน์ให้ความเห็น

...

น่าหวาดเสียว สุดเสี่ยงโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีจรวดหรือระเบิดลูกหนึ่งตกใส่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 1 ใน 6 เตาที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริชเชีย อาจเป็นเหตุให้เกิดการระเบิด เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย และสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาได้ไกลและเป็นวงกว้าง

ผู้เชี่ยวชาญหลายคน เตือนว่าถึงแม้กระสุนปืนใหญ่ หรือจรวดไม่ได้ตกใส่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โดยตรง แต่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เป็นโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน ซึ่งต้องมีการใช้งานและบำรุงรักษาอย่างระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งมันอาจเป็นเรื่องยากลำบากถ้าหากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกเปลี่ยนให้เป็นสมรภูมิรบ

‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสามารถทนทานความเสียหายจากการโจมตีทางทหาร’ เอ็ด ไลแมน ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยพลังนิวเคลียร์ของ Union of Concerned Scientists กล่าวด้วยความกังวล

ถ้าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย และสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา ชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงไฟฟ้าอาจได้รับอันตรายจากสารกัมมันตรังสี ที่รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม 

...

การหายใจสูดเอาสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกาย ในระดับต่ำ สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และหากเราสูดสารกัมมันตรังสีเข้าไปในระดับสูง สามารถทำให้เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ ในขณะที่ต้องใช้เวลาหลายสิบปีที่สารกัมมันตรังสีจะถูกกำจัดไปจากสิ่งแวดล้อม...

เรียบเรียงโดย : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : news.yahoo,Aljazeera