ในรายงาน “Global Plastics Outlook” ขององค์การเพื่อการพัฒนาและการร่วมมือทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ที่เผยแพร่เมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุว่าการใช้พลาสติกและขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในปี 2562 มีการใช้ พลาสติกเพิ่มขึ้น 4 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2543 ส่วนการผลิตก็เพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงเวลาเดียวกันถึง 460 ล้านตัน ขณะที่ขยะพลาสติกทั่วโลกก็เพิ่มขึ้น 2 เท่า แตะระดับ 353 ล้านตันในปี 2562

รายงานยังระบุด้วยว่าขยะพลาสติกเกือบ 2 ใน 3 เป็นพลาสติกที่มีอายุใช้งานไม่ถึง 5 ปี โดย 40% มาจากบรรจุภัณฑ์ อีก 12% จากสินค้าอุปโภคบริโภค และ 11% มาจากเสื้อผ้าและสิ่งทอ ขยะราว 19% ถูกนำไปกำจัดด้วยการเผา และ 50 เปอร์เซ็นต์ ถูกนำไปฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล อีกราว 22 เปอร์เซ็นต์ ถูกนำไปทิ้งโดยไม่มีการควบคุม มีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกรวบรวมนำไปรีไซเคิล ซึ่งในจำนวนนี้สามารถรีไซเคิลได้จริงเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลืออีก 6% ถูกกำจัดทิ้งเป็นขยะ จึงเป็นเหตุให้มีขยะพลาสติกจำนวนมากถูกทิ้งอยู่ตามชุมชนและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

ในปี 2562 มีขยะพลาสติกไหลลงสู่มหาสมุทรประมาณ 1.7 ล้านตัน ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าปัจจุบันมีขยะพลาสติกราว 30 ล้านตันอยู่ในทะเลและมหาสมุทร และอีก 109 ล้านตันปะปนอยู่ในแม่น้ำ เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ ข้อมูลดังกล่าวยังบ่งชี้ว่าการรั่วไหลของขยะพลาสติกสู่มหาสมุทรจะยังเกิดขึ้นต่อไปอีกหลายทศวรรษข้างหน้า รายงานยังเผยว่าสหรัฐฯเป็นประเทศที่สร้างขยะพลาสติกสูงสุดในโลก ชาวอเมริกัน 1 คนทิ้งขยะราว 221 กก. ใน 1 ปี ต่อด้วยประเทศในยุโรป 114 กก.ต่อคนต่อปี รวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีผลิตขยะพลาสติกราว 69 กก.ต่อคนต่อปี

จากรายงานฉบับนี้นักวิจัยยังเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องหันมาร่วมมือกันอย่างจริงจังในการลดการผลิตพลาสติก ไม่ว่าจะผ่านนวัตกรรม หรือการออกแบบสินค้าต่างๆ รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเร่งปรับปรุงวิธีการจัดการขยะและเพิ่มการรีไซเคิล รวมถึงมาตรการจูงใจภาคเอกชนให้ครอบคลุม แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อห้ามและมาตรการทางภาษีเกี่ยวกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในกว่า 120 ประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะลดมลพิษโดยรวมจากขยะพลาสติก และกระบวนการผลิตพลาสติกที่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่การเก็บภาษีฝังกลบและการเผาขยะเพื่อจูงใจให้รีไซเคิลมากขึ้นมีบังคับใช้ในบางประเทศเท่านั้น.

...

อมรดา พงศ์อุทัย