สุดท้ายเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดก็อุบัติขึ้นจนได้ สวนกระแสโลกศตวรรษ 21 ที่ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า ยุคนี้ใครเขาจะรบกัน การมีกำลังทหารไม่จำเป็น

หลังกองทัพรัสเซียประกาศส่งทหารออกปฏิบัติการใน “ยูเครน” ทำสงครามกันเต็มรูปแบบ ในลักษณะที่ชาวโลกไม่ได้เห็นกันมาหลายทศวรรษ ซึ่งที่พอจะเปรียบเทียบกันได้ก็คงเป็นเหตุการณ์กองทัพสหรัฐอเมริกาทำการรุกรานและเข้ายึดครองอิรัก เมื่อปี 2546

แน่นอนคำถามที่หลั่งไหลเข้ามาเต็มไปหมดคือ ทำไมเรื่องราวถึงดำเนินมาถึงจุดแตกหักได้ สิ่งที่พอจะอธิบายให้เห็นภาพ คงต้องย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน ที่ความสัมพันธ์ยูเครน-รัสเซียมีความลุ่มๆดอนๆมาตลอด จากกรณียูเครนจะเข้าไปอยู่ใต้อิทธิพลขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) หรือไม่ และหากเข้าร่วมก็ย่อมหมายความว่าชาติยุโรปตะวันออกทั้งแผงจะเป็นที่ตั้งของฐานทัพทางการทหารของชาติตะวันตกทั้งหมด

จากการรายงานทางวิชาการต่างๆ ชี้ว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศถดถอยลงเรื่อยๆ เริ่มมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อปี 2557 เกิดเหตุประท้วงที่เรียกว่า “การปฏิวัติแห่งเกียรติยศ” ขับไล่อดีตผู้นำยูเครน “วิกเตอร์ ยายูโควิช” ลงจากอำนาจ และทำให้รัสเซียสูญเสียอิทธิพลในยูเครน ซึ่งนโยบายของรัฐบาลยานูโควิช เน้นพึ่งพารัสเซีย และชะลอการกระชับความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป

เหตุการณ์ในยูเครนครั้งนั้น ทำให้รัฐบาลรัสเซียมองว่าเป็นการ “รัฐประหาร” ของชาติตะวันตก ที่ย่อมส่งผลกระทบทางความมั่นคงตามมา ไม่ว่าความปลอดภัยของคนเชื้อชาติรัสเซีย (17%) ในยูเครน ที่ตั้งของกองเรือทะเลดำของรัสเซียที่ต้องใช้ฐานในคาบสมุทรไครเมีย หรืออาจถึงขั้นยูเครนจะตกไปเป็นของนาโตในท้ายสุด จากนั้นในปีเดียวกันกองทัพรัสเซียจึงทำการเข้า “ผนวก” ไครเมีย ตามมาด้วยการถือกำเนิดของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออก ในจังหวัดโดเนตสก์และลูฮานสก์ ทางตะวันออกของยูเครน

ต่อมาปี 2558 การสู้รบในยูเครนตะวันออกได้ชะลอตัวลง หลังรัสเซีย ยูเครน และชาติสมาชิกความมั่นคงและความร่วมมือยุโรป (OSCE) ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ บรรลุข้อตกลงหยุดยิง “มินสก์” เบรกการสู้รบในยูเครนตะวันออก ทุกอย่างจึงดูเหมือนจะ “ลมสงบ” กลับมาเน้นการค้าขาย พัฒนาเศรษฐกิจ กันดังเดิม

...

สำหรับยูเครนแล้ว “รัสเซีย” ถือเป็นประเทศคู่ค้าเบอร์หนึ่งมาตลอดจนถึงปี 2557 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลยูเครนมีท่าหันไปซบอกสหภาพยุโรป พร้อมมีท่าทีอยากเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เรื่องนี้จึงทำให้รัสเซียตัดสินใจระงับข้อตกลงการค้าเสรีกับยูเครนในปี 2559 สมัยรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดียูเครน “เปโตร โปโรเชงโก” และทำให้ยูเครนตอบโต้ด้วยการระงับสินค้าที่ส่งออกจากไครเมียและพื้นที่กลุ่มกบฏยูเครนตะวันออกเช่นกัน

ผลที่ตามมาในเรื่องการค้า ได้ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไปรัสเซียลดลง 42 เปอร์เซ็นต์ (ปัจจุบันลดลง 76 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปี 2557) ทั้งยังลุกลามบานปลายไปสู่ภาค “พลังงาน” ด้วยเช่นกัน

ในประเด็นนี้ ยูเครนเป็นชาติที่พึ่งพา “ก๊าซธรรมชาติ” จากรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้พลังงานในยูเครน ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา รัสเซียมักใช้วิธีขึ้นราคาก๊าซ ลดปริมาณส่งก๊าซผ่านท่อในยูเครน (ที่ยูเครนจะได้กำไรส่วนแบ่ง) เพื่อใช้เป็นเครื่องต่อรองกับรัฐบาลยูเครน แต่ในปี 2559 รัฐบาลยูเครนได้ตัดสินใจ “ยุติการนำเข้า” ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียโดยสิ้นเชิง หันไปซื้อก๊าซจากสโลวะเกีย โปแลนด์ และฮังการีแทน ซึ่งประเทศเหล่านี้ก็นำเข้าก๊าซจากรัสเซียทั้งสิ้น เปรียบเสมือนว่ายูเครนไปซื้อก๊าซรัสเซียผ่านพ่อค้าคนกลางแทน

ทั้งหมดนี้ จึงพอจะแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลรัสเซียมีความไม่พอใจมาอย่างต่อเนื่อง ที่ยูเครน (ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เคยเขียนบทความบรรยายถึงยูเครนว่า เป็นคนคนเดียวกับรัสเซีย) มีความเอนเอียงไปอยู่กับ “ตะวันตก” มากขึ้น อย่างการค้ากับยูเครนตอนนี้ รัสเซียจากเคยเป็นที่หนึ่งก็ตกไปอยู่อันดับ 4 เป็นรองจีน เยอรมนี และโปแลนด์ ขณะที่ด้านความมั่นคงก็เอนเอียงไปทางนาโตมากขึ้น ผลสำรวจความนิยมของประชาชนในยูเครน ที่นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา สนับสนุนการเข้าร่วมนาโตกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนโยบายของรัฐบาลยูเครนเองก็เช่นกัน โดยในปี 2560 สภายูเครนได้ลงมติการรับรองให้ความร่วมมือกับนาโตถือเป็น “เรื่องหลักของนโยบายต่างประเทศ” ตามด้วยปี 2563 รัฐบาลยูเครนของผู้นำคนปัจจุบัน “โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี” ได้วางยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติ ที่ระบุถึงการให้ความสำคัญหลักในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต และการให้ได้มาซึ่งความเป็นหุ้นส่วนพิเศษกับนาโต จนกระทั่งปี 2564 ที่ผ่านมา นายเซเลนสกีได้เรียกร้องให้นาโตมอบสถานะ Membership Action Plan (MAP) ให้กับยูเครน โดยแม็บที่ว่านี้ คือ “โครงการเตรียมความพร้อม” ให้แก่ประเทศที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมกับนาโต

ช่วงยุคสงครามเย็น อเมริกายอมไม่ได้ที่รัสเซียจะมาตั้งฐานขีปนาวุธใน “คิวบา” คุกคามดินแดนสหรัฐฯ ผู้นำจอห์น เอฟ.เคนเนดี ประกาศกร้าวว่า จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็เอา มาครั้งนี้รัสเซียยอมไม่ได้เช่นกัน ที่จะปล่อยนาโตมาใช้ยูเครนเป็นฐานที่มั่น คุกคามดินแดนรัสเซีย ในอดีตเรื่องจบเพราะรัสเซียฟังและเคลียร์ได้ แต่ปัจจุบันไม่มีใครฟังรัสเซียเลยเคลียร์ไม่ได้.

วีรพจน์ อินทรพันธ์

...