นักการเมืองที่เตรียมสมัครประธานาธิบดีฝรั่งเศสหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์นาโตและให้คำมั่นสัญญาว่า ถ้าตัวเองได้เป็นประธานาธิบดี จะสร้างความมั่นคงให้กับยุโรปใหม่ คำพูดของแต่ละคนเหมือนกับไม่พอใจที่สหรัฐฯเข้ามาใช้นาโตสร้างความยุ่งยาก
อย่างมารีน เลอแปง บอกว่าฝรั่งเศสต้องทิ้งความคิดกองทัพแบบกลุ่ม และต้องออกจากนาโต ต้องปฏิรูปสหภาพยุโรปใหม่ ให้เป็นพันธมิตรแห่งประชาชาติยุโรป หรือนายฌ็อง ลุก เมล็งชง บอกว่าสหรัฐฯและนาโตเป็นต้นเหตุวิกฤติในอูเครน นักการเมืองฝรั่งเศสคนนี้หนุนการไม่ส่งทหารเข้าร่วมในกิจกรรมของนาโต หรือวาเลอรี เปเครสซี ผู้เตรียมสมัครประธานาธิบดีฝรั่งเศสอีกคน บอกว่าถ้าตนชนะเลือกตั้ง จะสถาปนาองค์กรเพื่อความมั่นคงของยุโรปขึ้นใหม่ ที่กินพื้นที่ตั้งแต่แอตแลนติกไปถึงเทือกเขาอูราล ซึ่งหมายถึงกินพื้นที่ยุโรปทั้งหมด รวมทั้งรัสเซียด้วย การพูดอย่างนี้หมายความว่าไม่อยากให้สหรัฐฯมายุ่มย่ามกับยุโรป
ในวิกฤติความขัดแย้งรัสเซีย-อูเครน ในประเด็นแคว้นดอนบัส (โดเนตสค์และลูฮันสค์) ประธานาธิบดีแอมานูแอล มาครง ของฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทมากที่สุด บินเจรจาทั้งกับปูติน ผู้นำรัสเซีย และเซเลนสกี ผู้นำอูเครนตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงก็ก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็น โดยมีสหรัฐฯและสหภาพโซเวียตผงาดเป็นผู้นำของแต่ละค่าย ประเทศที่เคยใหญ่อย่างเยอรมนี อังกฤษ อิตาลี และฝรั่งเศสต่างม่อยกระรอก เพราะรบในพื้นที่ของตนเอง แต่อย่างหนึ่งซึ่งพวกเราที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเห็นพ้องต้องกันก็คือ ประธานา ธิบดีของฝรั่งเศสในสาธารณรัฐที่ 5 ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบันใช้ได้ทุกคน มีปัญหาในยุโรป ทุกคนไม่เคยทิ้ง
อย่างนายพลชาร์ล เดอ โกล (1958-1965 และ 1965-1969) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสนานถึง 11 ปี แกเป็นคนเอาฝรั่งเศสออกจากสหรัฐฯและสหภาพโซเวียต 2 ประเทศนี้จะทำอะไรก็ไม่ไปยุ่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องความร่วมมือภายในภูมิภาคยุโรป เพื่อให้ยุโรปสงบมั่นคง ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันเหมือนในสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ชาร์ล เดอ โกล นำฝรั่งเศสเข้าไปทุ่มทำงานอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
...
ไหนๆ ก็เขียนถึงฝรั่งเศสแล้ว ขอเล่าเรื่องประธานาธิบดีฝรั่งเศสแต่ละคนในสาธารณรัฐที่ 5 หน่อยครับ บางท่านดูข่าวสหรัฐฯ รัสเซีย อูเครน จอร์เจีย โปแลนด์ เบลารุส ฯลฯ แล้วก็งง ว่าทำไมต้องมีฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวดองหนองยุ่งด้วยบ่อยๆ เพราะจิตใจส่วนลึกของฝรั่งเศสต้องการให้ยุโรปสงบมั่นคง ผู้นำฝรั่งเศสทุกคนรู้ทันสหรัฐฯ แต่หลังสงครามโลก ตัวเองอ่อนแอเพราะใช้ทรัพยากรรบกันมาหลายปี จึงถูกสหรัฐฯเข้ามามีอำนาจเหนือ
ที่ผมชมนายพลชาร์ล เดอ โกล ก็เรื่องจิตใจที่เป็นประชาธิปไตยของแก สมัยก่อนฝรั่งเศสเลือกประธานาธิบดีแบบเดียวกับสหรัฐฯคือใช้คณะผู้เลือกตั้งหรือ Electoral college เดอ โกล เป็นประธานาธิบดีครั้งแรกก็ด้วยระบบนี้ ตอนหลังแกหนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรง
เพราะรู้ว่าสหรัฐฯวางแผนให้สหภาพยุโรปอ่อนแอยังไง ชาร์ล เดอ โกล จึงไม่ยอมคบเฉพาะสหรัฐฯ ตอนแกเป็นประธานาธิบดี ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกของพวกตะวันตกที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน แถมเป็นประเทศยุโรปแรกที่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคละตินอเมริกา
กระทั่งยุคของฟร็องซัวส์ มิตแตร็อง (1988-1995) แกก็เน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของสหภาพยุโรป พื้นที่ใดของยุโรปมีปัญหา มิตแตร็องวิ่งเท้าขวิดไปแก้ไขปัญหา เหมือนกับที่มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบันวิ่งแก้ไขเรื่องรัสเซีย-อูเครนช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ยุคฌาค ชีรัค (1995-2002 และ 2002-2007) เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส แกก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ใช้กำลังทหารไปร่วมถอดถอนรัฐบาลอิรักของซัดดัม ฮุสเซ็น เมื่อ ค.ศ.2003 แล้วก็ยุคฌาค ชีรัค นี่ละครับ ที่ฝรั่งเศสใช้สิทธิยับยั้ง (Veto) มติการส่งกองกำลังทหารของสหประชาชาติแทรกแซงในอิรัก
ต้องขอบคุณแอมานูแอล มาครง (2017-ปัจจุบัน) ประธานาธิบดีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่ขยันตัวเป็นเกลียวหัวเป็นนอต พยายามไม่ให้ยุโรปแตกกัน ทะเลาะกัน ซึ่งเป็นบทบาทที่ตรงข้ามกับสหรัฐฯที่อยากเห็นประเทศในยุโรปตีกัน.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com