น.ส.โจฮันนา โรดริเกวซ ครูสอนโยคะชาวอินเดีย อายุ 23 ปี ฝึกนำลีลาการเต้นระบำแนวคลาสสิกของประเทศมา “อิมโพรไวส์” หรือวิถีของการด้นสดๆ ด้วยท่า “ตีลังกากลับหลัง” กับท่า “ยืนด้วยศีรษะ” ถือเป็นภาพที่ปรากฏพบเห็นได้ยากที่จะมีผู้หญิงก้าวเข้าสู่วงการเบรกแดนซ์ในประเทศนี้
สาวอินเดียคนนี้เกิดในย่านบร็องซ์ นครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ เติบโตแล้วกลับมาเรียนหนังสือที่เมืองบังกะลอร์ ตอนใต้ของประเทศ ช่วงที่พักเบรกสอบไล่ก็ไปดูการเต้นฮิป-ฮอป เธอรู้สึกทึ่งเหมือนรักแรกพบ ด้วยความพลิ้วในลีลาการเต้น จากนั้นเธอก็เริ่มฝึกซ้อมกับเพื่อนชาย ปีต่อมาเธอก็ลุยไปเต้นต่อหน้าสาธารณชน
“ฉันไม่เคยเข้าใจ...หรือบางทีอาจเป็นเพราะฉันอยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งทำทุกอย่างที่ผู้ชายทำและทุกสิ่งที่ผู้หญิงทำด้วย ไม่ว่าจะซ่อมหลอดไฟ ไปทำงาน ขี่มอเตอร์ไซค์ ทำกับข้าว และฉันเองก็อยากทำให้ได้ดีกว่าพวกผู้ชาย” ช่วงยุค 1970 การเต้นเบรกแดนซ์กลายเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นไปทั่วโลก จนกลายเป็นวัฒนธรรมในหมู่วัยรุ่น ตั้งแต่ในสลัมที่เมืองมุมไบไปถึงตามท้องถนนในเมืองเคป ทาวน์ ของแอฟริกาใต้
ยิ่งไปกว่านั้น ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกปี 2024 ยังบรรจุการเต้นเบรกแดนซ์เข้าเป็นกีฬาแข่งขันด้วย ทำให้โรดริเกวซหวังว่า กิจกรรมนี้จะเป็นที่ยอมรับในสายตาคนเป็นพ่อเป็นแม่ และส่งเสริมให้ลูกหลานมาออกกำลังแบบนี้กันให้มากขึ้น แม้ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการในอินเดีย แต่โรดริเกวซประเมินจากการนัดชุมนุมแข่งขันในปัจจุบันพบเห็นผู้ชายราว 800 คน แต่ผู้หญิงมีเพียง 40 คน
สำหรับโรดริเกวซ แม้ว่าร่ำเรียนการเต้น contemporary dance หรือการเต้นร่วมสมัย และการเต้นบัลเลต์มา แต่ทุกวันนี้เธอจะเน้นฝึกฝนความชำนาญกับการเล่นโยคะและ ศิลปะการต่อสู้ที่เรียกว่า กะละริพยัตตุ “Kalari payattu” กับ พรัตนะยัม “Bharatnatyam” รูปแบบการเต้นซึ่งต้นกำเนิดมาจากทางตอนใต้ของประเทศเมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน ถือเป็นศิลปะการต่อสู้แรกของโลก
...
เธอใช้องค์ความรู้ทุกอย่างมาปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเอง แล้วยังเปิดสตูดิโอ “เบรก พรหม” สอนเต้นช่วงซัมเมอร์ให้กับเด็กผู้หญิง เพราะเป็นวัยที่ยังไม่มีการปิดกั้นความคิด และสำหรับใครที่ฝึกเต้นสามารถซ้อมด้วยตัวเองผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย อย่างเช่นคลิปจากยูทูบ ถือเป็นกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือ หรือรองเท้าดีๆ แต่เป็นกิจกรรมที่ทำได้ทุกที่ของจริง...
ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ