วิเคราะห์กองทัพอากาศยูเครน มีอะไรเป็นเขี้ยวเล็บสำคัญ พร้อมรับมือภัยคุกคามทางอากาศระดับไหน หากต้องป้องกันประเทศด้วยตัวเอง หลังรัสเซียเคลื่อนทัพประชิดชายแดนภาคตะวันออกจนทำสถานการณ์ตึงเครียด
ท่ามกลางวิกฤติความตึงเครียดที่บริเวณพื้นที่ชายแดนระหว่างยูเครนและรัสเซีย หลังกองทัพรัสเซียเสริมกำลังทหารกว่า 1 แสนนาย และยุทโธปกรณ์จำนวนมาก มาตรึงกำลังประชิดบริเวณชายแดนติดกับภาคตะวันออกของประเทศยูเครน แน่นอนว่าแม้ว่าเรื่องดังกล่าวทางรัสเซียเองอ้างว่า การเคลื่อนกำลังทหารไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งที่มาจากการซ้อมรบ และการสับเปลี่ยนกำลังของหน่วยต่างๆ ที่รัสเซียสามารถทำได้ตลอดเวลา แต่ทางยูเครนก็มีการซ้อมรบรวมกับชาติตะวันตก รวมทั้งการที่ยูเครนที่เคยเป็นหนึ่งสหภาพโซเวียตหันหน้าไปสร้างความร่วมมือกับทางอียู และต้องการร่วมเป็นสมาชิกของกองกำลังสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต นั่นทำให้ ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ไม่ค่อยแฮปปี้กับเรื่องนี้นัก เพราะหากยูเครนทำได้ก็เหมือน โดนเอารถถังจอดริมรั้วหลังบ้านไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน
...
แต่ในมุมของชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตรนาโต มองสถานการณ์ชายแดนยูเครน เป็นความตึงเครียดระดับสูงสุด ที่ต้องให้ความกังวล เพราะยูเครนคือประตูที่เชื่อมระหว่างรัสเซีย และภูมิภาคยุโรปตะวันออก ที่สหรัฐฯ เชื่อว่ารัสเซียอาจต้องการผนวกดินแดนยูเครนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง เหมือนกับที่เมื่อปี 2557 รัสเซียได้ยึดไครเมียกลับมาเป็นของตัวเอง ทั้งนี้ ประเทศยูเครนเป็นประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ก่อนจะแยกตัวเป็นเอกราชภายหลังการล่มสลายของค่ายหลังม่านเหล็ก ในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 หากรัสเซียได้ยูเครนไปเท่ากับว่า ภูมิภาคนี้จะย้อนกลับไปเหมือนสมัยสงครามเย็น ที่สหรัฐฯ คงยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ จึงต้องทำทุกทางทั้งการร่วมกับชาติพันธมิตรยุโรปกดดันทางการค้า การคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อกดดันให้รัสเซียนำทหารออกไปจากชายแดนยูเครน แต่นี่ก็เป็นเกมวัดใจของรัสเซียที่อยาก ดวงกับชาติตะวันตกโดยมีชะตากรรมของยูเครนเป็นเดิมพัน
ดังนั้น ในโอกาสนี้ จึงอยากจะขอนำเสนอเรื่องราวของ กองทัพอากาศยูเครน และกำลังป้องกันภัยทางอากาศ ที่เป็นหน้าด่านสำคัญที่จะสกัดกั้นและรับมือกับภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการเตรียมพร้อมต่อแรงกดดัน จากสถานการณ์ชายแดนรัสเซียที่ดูตึงเครียด หากมีความขัดแย้งและมีการสู้รบเกิดขึ้น กองทัพอากาศย่อมเป็นกำลังสำคัญที่จะชี้ว่า ใครจะเป็นผู้ได้เปรียบในการรบ และ ป้องกันกองกำลังภาคพื้นดิน จึงลองมองวิเคราะห์ว่า หากยูเครนจำเป็นต้องปกป้องตัวเองหากมีการรุกราน ยูเครนจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะอย่างไรก็ตาม ประเทศของใคร ใครก็รักและหวงแหน และย่อมอยากจะสู้ด้วยตัวเองมากกว่ารอความช่วยเหลือจากชาติอื่นๆ
กองทัพอากาศยูเครน หลังสงครามเย็น จุดตั้งต้นใต้เงาโซเวียต
สำหรับกองทัพอากาศยูเครน ก่อตั้งเมื่อ 17 มี.ค. ค.ศ.1992 ภายหลังจากแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตฐานทัพหน่วยทหารได้รับโอนมาจากสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ยังได้รับยุทโธปกรณ์จากยุคสงครามเย็นมามากมาย ทำให้กองทัพอากาศยูเครนในยุคแรก มีทั้ง เครื่องบินขับไล่ มิก-21 มิก-23 มิก-25 เครื่องบินขับไล่-โจมตี มิก-27 เครื่องบินโจมี ซุคฮอย ซู-17, ซุคฮอย เครื่องบินสกัดกั้น ซู-15, เครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด ยาโคเลฟ ยัค-28, เครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลความเร็วเหนือเสียง ตูโปเลฟ ตู-160 แบล็กแจ็ก, เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ พิสัยไกล ตูโปเลฟ ตู-95 แบร์, เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ไอพ่นความเร็วเหนือเสียงปีกพับได้ ตูโปเลฟ ตู-22M แบ็คไฟร์, ตูโปเลฟ ตู-22 ไบลน์เดอร์, เครื่องบินทิ้งระเบิดไอพ่น ตูโปเลฟ ตู-16 แบดเจอร์ นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินลำเลียงโดยสารแบบ ตูโปเลฟ ตู-154 (Tupolev Tu-154) และ ตูโปเลฟ ตู-134 (Tupolev Tu-134) ด้วย
กองทัพอากาศยูเครนที่ตั้งขึ้นใหม่ในขณะนั้น ได้รับมรดกสำคัญมาจากโซเวียต คือ เครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ความเร็วเหนือเสียงที่ทันสมัยที่สุดในยุคสงครามเย็น คือ ตูโปเลฟ ตู-160 แบล็กแจ็ก (Tupolev Tu-160 Blackjack) ที่เคยประจำการในหน่วยบินทิ้งระเบิดที่ 184 ซึ่งประจำการอยู่ที่ Pryluky อย่างไรก็ตาม ในเดือน เม.ย.ปี ค.ศ.1998 ยูเครนได้ตัดสินใจที่จะเริ่มทำลายเครื่องบินทิ้งระเบิดที่มีดังกล่าว ภายใต้ข้อตกลงการลดการคุกคามแบบร่วมมือ (Nunn-Lugar Cooperative Threat Reduction) ที่วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ แซมนันน์ จากรัฐจอร์เจีย (พรรคเดโมแครต) และริชาร์ด ลูก้า วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน รัฐอินเดียนา เป็นผู้เสนอ เพื่อช่วยเหลือรัสเซียและอดีตสหภาพโซเวียตอื่นๆ ในการรื้อถอนและกำจัดพวกเขาอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงปี 1990 ในเดือน พ.ย.ปีเดียวกัน เครื่องบินทิ้งระเบิด Tu-160 ตัวแรกถูกทำลาย ในเดือน เม.ย. ปี ค.ศ.1999 ทันทีหลังจากที่นาโต้เริ่มโจมตีทางอากาศต่อเซอร์เบีย รัสเซียก็กลับมาเจรจากับยูเครนเกี่ยวกับเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์อีกครั้ง
...
คราวนี้รัสเซียเสนอซื้อคืน Tu-160 จำนวน 8 ลำ และ Tu-95MS สามรุ่นที่ผลิตในปี 1991 (ซึ่งอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด) รวมถึงขีปนาวุธข้ามทวีป 575 Kh-55MS ในที่สุดก็บรรลุข้อตกลงและลงนามในสัญญามูลค่า 285 ล้านเหรียญ โดยจะถูกหักออกจากหนี้ค่าก๊าซธรรมชาติ โดยยูเครนยังมีเครื่องบินตูโปเลฟ ตู-22, ตูโปเลฟ ตู-22เอ็ม และตูโปเลฟ ตู-95 ประจำการในกองทัพอยู่ระยะเวลาหนึ่ง หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม เครื่องบินทั้งหมดก็ถูกทำลาย ยกเว้นเพียงไม่กี่ลำที่นำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ เครื่องบินทิ้งระเบิด ตู-16 และ ตู-22M เป็นหนึ่งในเครื่องบินที่ถูกทำลายภายใต้สนธิสัญญา Conventional Forces in Europe
...
ก้าวสู่สหัสวรรษใหม่ ยูเครนต้องพัฒนากองทัพในความขาดแคลนและจำกัด
เมื่อพ้นยุคปี 2000 กองทัพอากาศยูเครนก็เปลี่ยนไป หลังจากที่ปลดประจำการเครื่องบินขับไล่ และทิ้งระเบิดจากสมัยสงครามเย็นไปจนหมด อย่างไรก็ตามยูเครนมีการปรับปรุง เครื่องบินลำเลียงขนาดกลาง และระบบมิสไซล์ต่อต้านอากาศยาน หรือ จรวดแซม ให้ยืดอายุการใช้งาน และทันสมัยมากขึ้น อาทิ ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานทางยุทธศาสตร์ S300 และ ระบบป้องกันภัยทางอากาศพร้อมเรดาร์ตรวจจับ และชุดยิงมิสไซล์เคลื่อนที่ บุค เอ็ม 1 (Buk M1) อาวุธปล่อยต่อต้านอากาศยานนำวิถีแบบ 2K12 KUB ที่เป็นรุ่นก้าวหน้าของ แซม-6 หรือ SA-6 เกนฟูล
ทอ.ยูเครน มีการพัฒนาระบบคอมมานด์แอนด์คอนโทรล (2C) ระบบแจ้งเตือนภัยทางอากาศ รวมทั้งจัดหาอากาศยานเครื่องบินโจมตีไอพ่นยุคที่ 3 แบบ ซู-24 เฟนเซอร์ และ ซู-25 ฟร็อกฟุต เครื่องบินขับไล่ไอพ่นยุคที่ 3 แบบ มิก-29 ฟัลครัม กับ ซู-27 แฟลงก์เคอร์ จากรัสเซีย และ เครื่องบินฝึกไอพ่น L-39 อัลบาทรอส จากสาธารณรัฐเช็ก โดยในปี 2005 ยูเครนมีแผนจัดซื้อมิก-29 และซู-27 รุ่นใหม่จากรัสเซีย แต่ด้วยการขาดงบประมาณทำให้ต้องล้มเลิกไป แต่ในภายหลังได้มีโครงการปรับปรุง เพื่อยืดอายุใช้งาน โดยมีการสำรองซู 27 บางส่วนไว้เป็นอะไหล่เพื่อซ่อมกินตัว เอาอะไหล่จากเครื่องอื่นมาใส่ให้กับเครื่องที่ยังบินได้ เนื่องจากมีปัญหากับรัสเซียตั้งแต่ปี 2014 ทำให้จัดหาอะไหล่ได้ยาก
...
ขีดความสามารถพร้อมรบของ ทอ.ยูเครน และหน่วยป้องกันภัยทางอากาศ
สตีเฟน แบลงค์ อาวุโสของสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศ The Atlantic Council’s Eurasia ได้วิเคราะห์สถานภาพของกองทัพอากาศยูเครนว่า นับตั้งแต่ปัญหาความขัดแย้งจากการรุกรานของรัสเซียในปี 2014-2015 จากนั้นผ่านมา 7 ปี กองทัพอากาศยูเครนเผชิญปัญหาความพร้อมรบของเครื่องบินที่มีประจำการ จากปัญหาการขาดแคลนอะไหล่เครื่องบินรัสเซียที่ใช้งาน ทำให้เครื่องบินจำนวนมากต้องถูกจอดทิ้งไว้บนพื้นและบางส่วนนำเอามาเป็นอะไหล่ซ่อมกินตัว เป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนากองทัพระยะยาว แต่กองทัพอากาศที่มีขนาดค่อนข้างเล็กนี้ก็สามารถสร้างความสูญเสียต่อกองทัพลูกผสมของรัสเซีย ทั้งกองกำลังตามแบบแผน ทหารรับจ้าง และคนในท้องถิ่นที่หันไปเข้าร่วมกับรัสเซีย มีรายงานว่าการโจมตีทางอากาศบางส่วนได้สังหารทหารรัสเซียจำนวนมาก
มอสโกตอบโต้โดยแอบส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศอย่าง มิสไซล์ Buk M1 ไปยังภูมิภาค Donbas ทางตะวันออกของยูเครนที่ถูกยึดครอง ระบบหนึ่งดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการยิงเครื่องบินพลเรือน MH17 ในเดือนกรกฎาคม 2014 และเครื่องบินทหารของยูเครนจำนวนมากถูกยิงด้วยเช่นกัน เนื่องจากชาวยูเครนมักบินด้วยเครื่องที่ติดตั้งอุปกรณ์สงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่ชำรุดหรือล้าสมัย
ยูเครนไม่ได้นิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ พวกเขาพยายามอัปเกรดเครื่องบินมิก-29 และซู-27 ด้วยการยกเครื่องใหม่ มีการฝึกนักบินรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาการขาดแคลนอะไหล่ หากไม่สามารถทำวิศวกรรมย้อนกลับเพื่อทำขึ้นเองได้ ก็ไปควานหาอะไหล่จากตลาดมืดแบบลับๆ แต่ทั้งนี้ กองทัพอากาศยูเครนยังอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ เพราะการปฏิบัติงานภายใต้ข้อจำกัด
กำลังทางอากาศของยูเครนมีความสามารถระดับใด
สตีเฟน แบลงค์ อาวุโสของสถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศ วิเคราะห์ต่อว่า เมื่อไม่นานมานี้ ผู้นำกองทัพอากาศยูเครนยอมรับว่าภายในปี 2030 เครื่องบินขับไล่ส่วนใหญ่ของประเทศจะไม่สามารถใช้งานได้ ในขณะเดียวกัน มอสโกก็ใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของกองทัพอากาศยูเครน และคุกคามยูเครนด้วยการโจมตีทางอากาศ ด้วยเครื่องบินขับไล่ใหม่ล่าสุดของรัสเซีย อาทิ ซู-35 แฟลงเคอร์-อี หรือ ซู-30 SM2 แฟลงก์เคอร์รุ่น 2 ที่นั่ง ที่มีขีดความสามารถทั้งการรบในอากาศและโจมตีภาคพื้นดิน ซู-24 เฟนเซอร์ กับ ซู-35 ฟร็อกฟุต ที่เป็นรุ่นใหม่กว่ายูเครน และอาจนำเอา ซู-57 เฟล่อน ที่เป็นเครื่องบินขับไล่สเตลธ์มาใช้ด้วย ทั้งนี้เครื่องบินส่วนใหญ่ถูกประจำการในเครือข่ายสนามบินในบริเวณรอบพรมแดนของรัสเซียที่ติดยูเครนได้ตลอด
กำลังทางอากาศที่ดีที่สุดของยูเครนในปัจจุบัน คือ กองบิน 2 กองที่มีกำลัง ซู-27 แฟลงก์เคอร์ ประมาณ 50 ลำ ซึ่งเทียบเท่ากับ เอฟ-15 ซี อีเกิ้ล เครื่องบินขับไล่ครองอากาศของสหรัฐฯ เชื่อกันว่ายังมีบินได้อยู่ประมาณ 30 เครื่อง เป็นเครื่องบินพร้อมรบที่มีขีดความสามารถในการใช้อาวุธในระยะนอกสายตานำวิถีด้วยเรดาร์ อย่าง เอเอ-10 อะลาโม และระยะใกล้แบบ เอเอ-11 อาเชอร์ อันดับต่อไปของมันคือกองบิน ซู-24 เฟนเซอร์ ที่สามารถใช้อาวุธอัจฉริยะ เช่น ระเบิดนำวิถี อาวุธปล่อยนำวิถีอากาศ-สู่-พื้น รวมทั้งรับบทบาทเป็นเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศได้โดยติดกระเปาะถังน้ำมัน อย่างดีที่สุดปัจจุบันเชื่อว่าเครื่องบินเหล่านี้ประมาณ 30 ลำยังบินอยู่
เครื่องบินขับไล่ที่มีมากที่สุดของยูเครน คือ มิก-29 ฟัลครัม ที่มีสมรรถนะในการสกัดกั้นทางอากาศและโจมตีภาคพื้นดินได้ในแบบจำกัด เทียบเท่ากับ เอฟ-16 ของสหรัฐฯ ในที่สุด จำนวน 3 กองบินราวๆ 50 ลำ รวมทั้ง ซู-25 ฟร็อกฟุต เครื่องบินไอพ่นโจมตีและสนับสนุนทางอากาศแบบใกล้ชิด จำนวน 1 กองบินราว 17 ลำ ที่รับหน้าที่ในการโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดินด้วยระเบิดและจรวดไม่นำวิถี เพื่อสนับสนุนทหารราบและยานเกราะภาคพื้นดิน
นักวิเคราะห์มองว่า ยูเครนขาดความสามารถในการป้องกันทางอากาศที่สำคัญ เช่น การเตือนล่วงหน้าและการควบคุมทางอากาศ เครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศขนาดใหญ่ ระบบดาต้าลิงก์ดิจิทัล สำหรับเครือข่ายเหล่านี้ อาวุธยุทโธปกรณ์อัจฉริยะที่ทันสมัย ขีปนาวุธร่อนทางอากาศ และกระเปาะลาดตระเวนและชี้เป้าหมาย รวมไปถึงการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ การก่อกวนเรดาร์ และระบบเป้าลวงมิสไซล์รุ่นใหม่ๆ
โอกาสที่ต้องรบกันมีหรือไม่
โอกาสที่จะเกิดการสู้รบเป็นระดับสงครามในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากในเวทีโลกใครก็ตามที่ส่งทหารเข้ายูเครนก่อนย่อมกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาชาวโลก ทั้งสหรัฐฯ หรือ อังกฤษ และ รัสเซีย แต่นักวิเคราะห์ต่างมองว่า พื้นที่ตรงนี้ เป็นเหมือนพื้นที่แสดงอำนาจของผู้นำจากโลกทั้ง 2 ฝ่าย โดยท่าทีที่ชัดเจนของรัสเซีย คือ ไม่ต้องการให้นาโตเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศที่อยู่รอบๆ รัสเซีย โดยเฉพาะอดีตประเทศที่เคยเป็นของสหภาพโซเวียต การต่อสู้หลักๆ อยู่ที่การเจรจาทางการทูต และการต่อรองทางเศรษฐกิจ ไม่มีใครบ้าส่งทหารไปสู้รบให้เลือดนองแผ่นดินกันง่ายๆ
ขณะเดียวกัน สำนักข่าว France 24 ก็ได้มีบทความที่ถามความเห็นนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย ยุโรปตะวันออก ถึงปัญหาชายแดนยูเครน ที่สรุป คือ การที่จะให้ยูเครนรับมือรัสเซียลำพัง ก็ไม่ต่างจากเดวิดสู้ยักษ์โกไลแอธ ยูเครนไม่อาจยันการบุกแบบเต็มรูปแบบได้แน่นอนด้วยกำลังที่มี และต้องร้องขอการช่วยเหลือจากนาโตอย่างแน่นอน แต่ไม่มีใครอยากบุกยูเครนให้กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาคนทั้งโลก ไม่ว่าจะฝ่ายรัสเซียเอง เดียวกันกับชาวอเมริกันไม่เห็นด้วยกับ ปธน.โจ ไบเดน การส่งทหารไปทำสงครามในยุโรปตะวันออกเช่นกัน แม้แต่เยอรมนีก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการส่งอาวุธสนับสนุนยูเครน อีกทั้งประเด็นการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมายุโรปก็มีความจำเป็นในช่วงฤดูหนาวคงไม่เป็นผลดี หากมีการรบในเวลานี้ ที่สำคัญยูเครนและรัสเซียยังมีความพึ่งพาอาศัยกันมากกว่า การพึ่งพาจากชาติตะวันตก การบุกยูเครนไม่ส่งผลดีต่อฝ่ายใดๆ
ในความเห็นส่วนตัว ยังเชื่อว่าความตึงเครียดบนชายแดนยูเครนและรัสเซีย ยังสามารถเจรจาตกลงผ่อนคลายลงได้ หากมีความจริงใจในการแก้ปัญหา ระหว่างสหรัฐอเมริกาที่เป็นหัวหอก กับกลุ่มนาโต และ รัสเซีย แต่ความตึงเครียดนี้ ก็มองได้เช่นกันว่า อาจจะเป็นหนึ่งในงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่นำมาวัดกำลังเหมือนเซียนท้าดวงในวงไพ่ แต่ยูเครนที่เป็นพื้นที่กลางวงขัดแย้ง จากนี้ก็อาจจะต้องเสริมกำลังรบใหม่ มีการเปลี่ยนแปลง ไม่พึ่งพาอาวุธยุทโธปกรณ์จากรัสเซียอีกต่อไป แต่คงต้องมองหาตัวเลือกจากชาติยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกา เพื่อที่จะได้ไม่ติดล็อกเหมือนที่ผ่านมา แม้ทหารยูเครนใจสู้ ฝึกหนักเพื่อพร้อมปกป้องประเทศ แต่ถ้าอาวุธไม่อาจสู้ได้อย่างทัดเทียม ก็ไม่อาจทำให้ใครๆ เกรงใจได้จริงๆ...
ผู้เขียน : จุลดิส รัตนคำแปง
ที่มาข้อมูล : เฟซบุ๊ก หน่วยบัญชาการกองทัพอากาศของยูเครน (Командування Повітряних Сил ЗСУ / Air Force Command of UA Armed Forces) , วิกิพีเดีย กองทัพอากาศยูเครน, สำนักข่าว France24, Atlantic Council
ที่มาของภาพ : เฟซบุ๊ก กองประชาสัมพันธ์ หน่วยบัญชาการกองทัพอากาศของยูเครน