- การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในประเทศจีนต่ำที่สุดในรอบ 60 ปี โดยในปีที่แล้วพบว่าจีนและไต้หวันนั้นมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลก
- ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน และค่าครองชีพที่พุ่งสูงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจที่จะชะลอการมีบุตร การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนานมากถึง 2 ปี ก็ซ้ำเติมตัวเลขการเจริญพันธุ์และคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 5 ล้านคนทั่วโลก
- นอกจากวิกฤติประชากรจะกระทบต่อเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานก็เป็นอีกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสจากการขาดแคลนคนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาด นอกจากนี้ยังกระทบต่อการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้แต่ละประเทศต้องปรับตัวทั้งในแง่เศรษฐกิจและเทคโนโลยี
ทั่วโลกต้องเผชิญปัญหาประชากรที่ลดต่ำลง โดยในประเทศจีน ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ในตอนนี้กลับมีตัวเลขการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่ต่ำที่สุดในรอบ 60 ปี ส่วนจำนวนการเกิดในประเทศแซงหน้าจำนวนการเสียชีวิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามกระตุ้นตัวเลขการเกิดเพื่อแก้ปัญหาจำนวนประชากรก็ตาม โดยในปีที่แล้วพบว่าจีนและไต้หวันนั้นมีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำที่สุดในโลก คิดเป็นตัวเลขราว 1.07 ต่อหญิงหนึ่งคนเท่านั้น
นอกจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน และค่าครองชีพที่พุ่งสูง จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจที่จะชะลอการมีบุตร การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนานมากถึง 2 ปี ก็ซ้ำเติมตัวเลขการเจริญพันธุ์ และวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น ในประเทศรัสเซีย พบว่าโควิดได้คร่าชีวิตชาวรัสเซียไปกว่า 6 แสนศพ ทำให้จำนวนประชากรในประเทศดิ่งฮวบลง
...
ในขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่า ตัวเลขประชากรโลกนั้นจะคงที่ในปี ค.ศ.2100 ซึ่งปัญหาประชากรนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ประเทศเช่น ลัตเวีย ญี่ปุ่น ซีเรีย และอิตาลี ต้องเผชิญกับวิกฤติจำนวนประชากรลดต่ำลงก่อนใครเพื่อน ซึ่งเป็นผลกระทบจากอัตราการเกิด และการย้านถิ่นฐาน ในขณะที่ออสเตรเลียต้องเผชิญกับตัวเลขประชากรที่ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง
จำนวนประชากรลดในสหรัฐฯ
เมื่อปี พ.ศ.2563 มีทารกแรกเกิดคลอดในนครนิวยอร์กน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา ส่วนจำนวนประชากรทั่วสหรัฐฯ ขยับขึ้นเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าปี 2563 ถึง 2564 นับเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นจำนวนประชากรที่น้อยที่สุดตั้งแต่สำนักงานสถิติแห่งชาติเริ่มบันทึกจำนวนประชากรในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ตำ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดต่ำลง ชาวอเมริกันมีบุตรน้อยลง และมีขนาดครอบครัวที่เล็กลง โดยตัวเลขเฉลี่ยของจำนวนเด็กที่ผู้หญิงให้กำเนิดนั้นลดลงจาก 2.12 ในปี 2550 เป็น 1.64 ในปี 2563
เว็บไซต์ Vox ระบุว่า ในขณะที่การกระตุ้นให้ผู้คนมีลูกมากขึ้นนั้นเป็นโจทย์ที่ท้าทายและมีค่าใช้จ่ายสูง สหรัฐอเมริกาได้พยายามเพิ่มจำนวนประชากรโดยการดึงดูดผู้อพยพ ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถเพิ่มประชากรได้อย่างรวดเร็ว โดยในปีที่แล้วสหรัฐฯ มีตัวเลขผู้อพยพต่างชาติเพิ่มในจำนวนประชากรมากกว่าอัตราการเกิดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ผลกระทบจากนโยบายที่เข้มงวด ได้ส่งผลให้ตัวเลขผู้ย้ายถิ่นฐานไปยังสหรัฐฯ นั้นลดลงตามไปด้วย
ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ เพียงเท่านั้น เพราะประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง โดยครึ่งหนึ่งของประชากรโลกนั้นอาศัยอยู่ในประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำ หนึ่งในนั้นคือประเทศญี่ปุ่น ที่มีอัตราการเกิดและผู้อพยพย้ายถิ่นฐานน้อย เป็นผลให้มีตัวเลขประชากรในประเทศลดลง ส่วนในญี่ปุ่นพบว่าตัวเลขการแต่งงานนั้นลดลง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
จีน-ญี่ปุ่น เผชิญวิกฤติประชากรเรื้อรัง
หนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุน ของญี่ปุ่น รายงานว่า เมื่อปีที่แล้วอัตราการเกิดในญี่ปุ่นลดลงเหลือ 805,000 ครั้ง ส่วนในปี 2563 อัตราการเกิดได้ลดลง 2.8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และยังนับว่าต่ำที่สุดตั้งแต่มีการจดบันทึกในปี ค.ศ.1899
ส่วนประเทศจีน มีเด็กทารก 10.62 ล้านคน เกิดในปี 2564 ส่วนในปีเดียวกันมีตัวเลขผู้เสียชีวิต 10.14 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าตัวเลขนั้นมีความใกล้เคียงกันมาก นับเป็นการเพิ่มของจำนวนประชากรที่ช้าที่สุดตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 โดยจีนเป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียที่ต้องประสบกับปัญหาอัตราการเกิดในประเทศต่ำ และก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ
...
ด้านสำนักข่าวเดอะการ์เดียน ได้รายงานบทสัมภาษณ์ จือเว่ย จาง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Pinpoint Asset Management ที่ชี้ว่า ความท้าทายเกี่ยวกับจำนวนประชากรนั้นเป็นสิ่งที่ทราบกันดี แต่ความรวดเร็วของการที่ประชากรเข้าสู่วัยสูงอายุนั้นรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าจำนวนประชากรในประเทศจีนนั้นสูงสุดในปี 2564 หลังจากนั้นการเพิ่มของจำนวนประชากรนั้นจะลดลงรวดเร็วกว่าที่คาด ด้านรัฐบาลได้ประกาศนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาจำนวนประชากรในประเทศ โดยมีการปรับเกณฑ์อายุวัยเกษียณ และนโยบายมีลูกสามคน หวังกระตุ้นจำนวนประชากร
ประชากรรัสเซียต่ำเป็นประวัติการณ์
ส่วนประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างรัสเซีย ต้องเผชิญตัวเลขประชากรลดลงมากเป็นประวัติการณ์ โดยสำนักงานสถิติของรัสเซีย พบว่า ในปีที่แล้วจำนวนประชากรในประเทศมีจำนวนลดลงกว่า 1 ล้านคน ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ส่วนหนึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีชาวรัสเซียเสียชีวิตกว่า 660,000 ศพ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในประเทศ ส่วนเว็บไซต์ของรัฐบาลรัสเซียรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตในประเทศอยู่ที่ราว 320,000 ราย เนื่องจากทางการจะเผยแพร่เฉพาะตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ได้รับการชันสูตรยืนยันว่าเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เท่านั้น ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่าที่มีการรายงาน
...
รัสเซียต้องเผชิญกับปัญหาจำนวนประชากรมายาวนาน 30 ปี จากอัตราการเกิดต่ำบวกกับอายุขัยเฉลี่ยสั้น เป็นผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ปัญหาฝังรากลึก กระทบเป็นวงกว้าง
ในขณะเดียวกันปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมสมัยใหม่นั้นมีหลายปัจจัยที่ทำให้คู่รักหลายคู่ลังเลที่จะมีบุตรด้วยกันสักคน ทั้งค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น การแต่งงานในช่วงอายุที่มากขึ้น รวมถึงการเคลื่อนไหวทางสังคม ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในประเทศจีนลังเลที่จะมีลูก ซึ่งรัฐบาลจีนเองก็ได้พยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวโดยแบนสถาบันกวดวิชาเอกชนที่มีราคาแพง และให้คำมั่นว่าจะปรับการเข้าถึงการเลี้ยงดูเด็ก และการลาคลอด
ศาสตราจารย์ หวัง เฟิง จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเออร์ไวน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรเอเชีย ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวฝังรากลึกมากกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยได้เปรียบเทียบว่านโยบายที่ออกมาแก้ปัญหานั้นเปรียบเสมือนกับผ้าพันแผลเท่านั้น และหากไม่มีการแก้ปัญหาตรงจุด เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเพศ และค่าครองชีพที่สูงลิ่ว สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการดิ่งลงของจำนวนประชากรเท่านั้น
...
ส่วนภาคแรงงานนั้นเป็นส่วนแรกที่ได้รับผลกระทบจากตัวเลขประชากรที่ต่ำลง นำไปสู่การขาดแคลนคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะที่สังคมสูงอายุได้เพิ่มแรงกดดันให้กับทรัพยากรต่างๆ นักวิเคราะห์มองว่าหนึ่งในทางออกคือการเปิดรับแรงงานต่างชาติ ใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงาน รวมไปถึงการพึ่งพาปัญญาประดิษฐ์ให้มากขึ้น
แต่นอกเหนือจากปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว การที่ทั่วโลกมีประชากรน้อยลงนั้น กระทบต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมให้ก้าวหน้า ซึ่งหากจำนวนประชากรลดลงนั่นหมายความว่าความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมก็จะลดลงตามไปด้วย ทำให้แต่ละประเทศต้องปรับตัวทั้งในแง่เศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับวิกฤติจำนวนประชากรในอนาคต.
ผู้เขียน: นัฐชา กิจโมกข์
ที่มา: Weforum, theguardian, Vox, Globaledge, VOA