ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันจันทร์ เปิดวันแรกของสัปดาห์ก็ร่วงระนาวแดงเถือก นักลงทุนเทขายกันกระหน่ำวิตกว่า ธนาคารกลาง

สหรัฐฯ (เฟด) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ร่วงไปกว่า 1,000 จุด ในช่วงเวลาการซื้อขายของวัน ก่อนจะปิดบวก 99 จุด จากแรงช้อนซื้อของนักลงทุนในช่วงท้าย เช้าวันนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะแถลงผลการประชุมเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยและเงินเฟ้อจะขึ้นในเดือนมีนาคมตามที่ประกาศหรือจะเร็วขึ้น

นักวิเคราะห์จาก เจพี มอร์แกน คาดว่า การทรุดตัวของสินทรัพย์ เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมาอาจจะยุติลงแล้ว มีสัญญาณบ่งชี้ทางเทคนิคว่า ตลาดได้เข้าสู่เขต Oversold แล้ว แรงเทขายอาจจะมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว จริงหรือไม่ต้องดูตัวเลขดัชนีกันในวันนี้

การที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยและลดคิวอีในไตรมาสแรกปีนี้ เพราะ อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) ในสหรัฐฯพุ่งขึ้นไปกว่า 7% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการในสหรัฐฯแพงขึ้นอย่างมาก ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธันวาคมก็พุ่งขึ้นไปกว่า 9.7% สูงสุดในรอบ 11 ปี นักเศรษฐศาสตร์จึงสนับสนุนให้เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อและราคาสินค้า

แต่ที่แปลกที่สุดในโลกก็คือ ประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่ สหรัฐฯ ยุโรป กำลังเผชิญภัยภาวะเงินเฟ้อ แต่ญี่ปุ่นกลับมีปัญหา “เงินไม่เฟ้อ” แถมยัง “ติดลบ” และเจอ “เงินฝืด” อีกต่างหาก เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคในญี่ปุ่นไม่ขึ้นราคา ทำให้ค่าครองชีพชาวซามูไรไม่เพิ่มขึ้น

วารสาร การเงินธนาคาร ฉบับมกราคมรายงานในคอลัมน์ World Exclusive ว่า ความจริงญี่ปุ่นก็เจอปัญหาราคาสินค้าแพงเหมือนชาติอื่น เดือนตุลาคมดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นถึง 8% โดยเฉพาะราคาพลังงานพุ่งขึ้นไป 45% ราคาผลิตภัณฑ์ไม้พุ่งไป 57% วัตถุดิบอื่นราคาก็ทะยานขึ้นไปทั่วหน้า สินค้านำเข้ายิ่งแพงขึ้นไปอีก เพราะค่าเงินเยนอ่อนตัว แต่ผู้ผลิตในญี่ปุ่นก็ต้องทนกล้ำกลืนพิษต้นทุนแพงไว้ก่อน จะด่วนขึ้นราคาสินค้าไม่ได้เป็นอันขาด อาจทำให้เสียลูกค้าแก่บริษัทคู่แข่งได้ง่ายๆ ชาวซามูไรจึงอยู่กับสถานการณ์สินค้าราคาถูกมาร่วม 2 ทศวรรษ

...

เมื่อไม่กล้าขึ้นราคา แล้วบริษัทญี่ปุ่นแก้ปัญหาต้นทุนแพงกันอย่างไร

คำตอบก็คือ บริษัทญี่ปุ่นใช้เทคนิคที่เรียกกันว่า Shrinkflation คือ การลดปริมาณสินค้าลงจากเดิม แต่ขายในราคาเท่าเดิม จะเรียกว่า “เงินเฟ้อซ่อนรูป” ก็ได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำกันมานานแล้วทั้งในสหรัฐฯและยุโรป ส่วนใหญ่จะใช้กับสินค้าในหมวดอาหารการกิจและเครื่องดื่ม เพื่อไม่ให้ประชาชนรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง วิธีนี้ช่วยให้บริษัทมีกำไรขึ้นมาบ้าง และช่วยไม่ให้ลูกค้าหนีไปหาแบรนด์อื่น

สินค้าที่มีการใช้เทคนิค shrinkflation ที่เห็นค่อนข้างชัดเจนก็คือ กระดาษชำระ ในสหรัฐฯ ไซส์ปกติจะมีขนาด 4.5 นิ้ว แต่ลดไซส์ลงเหลือ 3.8 นิ้ว ขายราคาเดิม โค้ก 2 ลิตร ก็ลดลงเหลือ 1.75 ลิตร ขายราคาเดิม มันฝรั่ง เลย์ ขนาดครอบครัวก็ลดปริมาณจาก 10 ออนซ์ เหลือ 9.5 ออนซ์ แต่ขายราคาเดิม

ใน ประเทศไทย ผมเชื่อว่ามีการใช้เทคนิค Shrinkflation เหมือนกัน แต่ กรมการค้าภายใน อาจไม่รู้เรื่องหรือแกล้งไม่รู้ก็เป็นได้ ผมสงสัยมานานแล้ว กระดาษชำระม้วนเล็กลงกว่าเดิม แถมเนื้อกระดาษก็ฟูมาก เปื่อยง่าย ไม่เหนียวเหมือนก่อน กระดาษทิชชูก็หลวมไม่เต็มกล่องเหมือนก่อน และใช้หมดกล่องเร็วขึ้น แต่ยังไม่เคยมีใครไปสำรวจว่ามีการลดปริมาณลงหรือไม่ ก็ฝาก กรมการค้าภายใน ไปช่วยสำรวจให้หน่อยก็แล้วกันนะครับ

วิธีการนี้ ชาวญี่ปุ่นบางกลุ่มก็ไม่โอเค มีการจัดตั้งเว็บไซต์ตรวจสอบราคาสินค้าและบริการเพื่อดูว่า มีการใช้เทคนิค Shrinkflation หรือไม่ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าราว 14% จากการสำรวจบอกว่าจำใจต้องขึ้นราคาสินค้า แต่อีกราว 40% ยังรีๆรอๆ ทำให้อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นยังต่ำเตี้ยติดดินไม่สูงเหมือนประเทศอื่น บางเดือนติดลบกลายเป็นเงินฝืดไปด้วยซ้ำ

แต่ปัจจัยหนึ่งที่ญี่ปุ่นไม่มีคือ “การทุจริต/การเอาเปรียบ” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของไทยที่ ทำให้ราคาสินค้าแพงเกินจริงมาก เป็นปัญหาที่รัฐบาลแก้ไม่ได้หรือไม่อยากแก้ก็ไม่รู้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”