เมื่อ ค.ศ.2001 เป็นปีที่ประเทศ มาลาวี ประสบภัยแล้งอย่างหนัก พืชผลปลูกไม่ได้ยาวนาน 5 เดือน แล้วยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่มาขอซื้อต้นไม้ที่กันน้ำท่วม จนเกิดสภาพข้าวยากหมากแพง ประชาชนต้องอยู่กันอย่างอดๆอยากๆ

วิลเลียม คัมควัมบา ในหมู่บ้านวิมเบที่ในขณะนั้นอายุ 13 ปีจำต้องออกจากโรงเรียน เพราะที่บ้านไม่มีเงินส่งเสีย แต่ด้วยการใฝ่หา ความรู้ แอบขอคุณครูเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุด เห็นหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ Using Energy บอกเล่ากังหันลมสูบน้ำและผลิตไฟฟ้า ทั้งที่อ่านได้บ้างไม่ได้บ้าง อาศัยดิกชันนารีเป็นตัวช่วยจน “เบิกเนตร” เลยไปค้นคุ้ยเศษวัสดุจากกองขยะ ป่าช้ารถเก่ามาทดลองทำกังหันลมผลิตไฟฟ้าด้วยตัวเอง

ตาสว่างไปกว่านั้น วิลเลียมก็มองเห็นอุปกรณ์ ที่ให้กำเนิดพลังงานไฟฟ้าจากไฟหน้ารถจักรยานของคุณครูประจำชั้นที่ใช้ “ไดนาโม”...นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งหมู่บ้านได้รู้จัก “พลังงานไฟฟ้า” แม้มีอุปสรรคใหญ่หลวงคือพ่อที่ไม่เชื่อมั่นว่าลูกจะทำได้สำเร็จ

คราวที่ วิลเลียม อายุ 19 ปี ซึ่งได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อด้านสิ่งแวดล้อมที่วิทยาลัยดาร์ตมัธ ในสหรัฐฯ ขึ้นพูดบนเวที TED Talks เมื่อ 2009 “ผมทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้ได้การศึกษา ผมสร้างมันขึ้นมา พัฒนาให้มันสูบน้ำได้ ดังนั้น จงเชื่อในตัวเองและศรัทธาไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น”

ปัจจุบันเขาก็ยังทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ผลักดันโครงการพลังงานธรรมชาติเพื่อช่วยพัฒนาพื้นที่การเกษตร

เรื่องราวทั้งหมดถูกถ่ายทอดออกมาทางภาพยนตร์เรื่อง “The Boy Who Harnessed the Wind” ที่มาจากหนังสือชื่อเรื่องเดียวกัน คว้ารางวัล Alfred P.Sloan Prize จากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ 2019 สาขาภาพยนตร์ที่ให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยี รับชมได้ทางเน็ตฟลิกซ์

...

ถือเป็นเรื่องที่สะท้อนคติสอนใจให้กับคนเราได้อย่างดีที่ว่า แต่ละคนมี “ต้นทุน” ไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันได้นั่นก็คือ “การศึกษา” และยิ่งหากมี “โอกาส” คว้าได้ คว้าถึง ความสำเร็จอาจอยู่ไกล แต่อย่างน้อยก็เห็นเส้นทางที่จะเดินไป...

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ