หลังจากเจรจากันมายาวนานเกือบ 10 ปี RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ก็มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ท่านที่ศึกษา RCEP อย่างละเอียดจนเข้าใจได้ลึกซึ้งก็จะสามารถใช้ประโยชน์กับการที่ไทยเป็นสมาชิก RCEP ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นของโลก และที่สำคัญ ไทยของเราก็เป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ด้วย
คนไทยจำนวนหนึ่งอยากให้ไทยร่วม CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นความตกลงการค้าระหว่างออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม เศรษฐกิจรวมทั้ง 11 ประเทศสมาชิกตอนลงนาม คิดเป็นร้อยละ 13.4 ของจีดีพีโลกหรือประมาณ 13.5 ล้านล้านดอลลาร์
หลายคนให้ข้อมูลว่า ถ้าไม่เข้า CPTPP ไทยจะเสียเปรียบเพราะ CPTPP เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่อันดับ 3 ของโลก (วัดจากจีดีพี) รองจากความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือและตลาดร่วมยุโรป แต่มีหลายคนค้านการเข้าร่วม CPTPP จนเป็นข้อถกเถียงกันตามโซเชียลมีเดีย
ที่ไม่ต้องเถียงกันและไทยเป็นสมาชิกอยู่แล้ว แถมมีผลบังคับใช้แล้ว ก็คือ RCEP ซึ่งมีสมาชิก 15 ประเทศ คือ กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ RCEP เป็นเขตการค้าเสรีที่มีความพร้อมสูง ใครจะนึกเล่าครับว่า แม้แต่ผู้ผลิตสำคัญของโลกอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มาอยู่ในกลุ่ม RCEP ด้วยกัน
ที่น่าสนใจของกลุ่ม RCEP อีกอย่างก็คือ การมีออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ซึ่งมีทรัพยากรและเทคโนโลยีต้นน้ำที่สามารถมอบวัตถุดิบให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นำไปพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ส่วนจีนและอาเซียนเป็นผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางและขั้นปลายที่ซับซ้อนได้ดี
...
สินค้าพวกที่ต้องใช้เทคโนโลยีสำคัญไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ ล้วนผลิตในกลุ่มประเทศ RCEP ทั้งนั้น เขียนให้เข้าใจง่ายก็คือ โลกซื้อสินค้าที่มีเทคโนโลยีสำคัญจากกลุ่ม RCEP คิดในแง่ของประชากรซึ่งเป็นผู้บริโภค RCEP ก็มีประชากรหลายพันล้าน แค่จีนประเทศเดียวนี่ก็มากถึง 1.4 พันล้านคนแล้ว
นักลงทุนกำลังมุ่งมาลงหลักปักฐานในประเทศของกลุ่ม RCEP อยู่ที่สมาชิกของ RCEP แต่ละประเทศว่าจะดึงนักลงทุนเข้าประเทศของตัวเองยังไง ประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะดึง FDI หรือเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศได้มากกว่าเพื่อนก็คือเวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย เวียดนามเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่เป็นสมาชิกทั้ง CPTPP และ RCEP การเป็นสมาชิกของทั้งสองกลุ่มทำให้นักลงทุนมองเวียดนามมากกว่าไทย อีกข้อที่อาจจะทำให้เวียดนามได้เปรียบไทยก็คือ การเมืองที่นิ่ง ทำให้นักลงทุนมั่นใจว่าลงทุนในเวียดนามแล้วจะไม่โดนกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
สมัยที่จีนยังไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก การค้าการลงทุนของจีนก็งั้นๆ ทั้งที่โดนกีดกันจากสหรัฐฯและตะวันตก แต่จีนก็พยายามเจรจาอยู่หลายรอบจนประสบความสำเร็จ หลังจากเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเมื่อ พ.ศ.2544 การค้าของจีนก็พุ่ง จีนให้ความสำคัญอย่างมากกับเขตการค้าเสรี ระเบียงเศรษฐกิจ องค์กรความร่วมมือ กลุ่มความร่วมมือ กรอบความร่วมมือ ฟอรั่มความร่วมมือ สหภาพเศรษฐกิจ ระเบียงการค้า เส้นทาง เขตเสรี ฯลฯ
จีนเป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นกับทุกองค์กรที่ตนเป็นสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย ระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-พม่า สะพานเศรษฐกิจยูเรเซียใหม่ กรอบความร่วมมือเอเชีย ความร่วมมือจีน-ชาติอาหรับ ฟอรั่มความร่วมมือจีน-แอฟริกา ฯลฯ
จีนใช้คนเป็นพันศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์จากองค์กรที่ตนเข้าร่วม เพื่อจะใช้ประโยชน์จากองค์กรนั้นให้ได้มากที่สุด ทุกองค์กรมีประโยชน์มาก ใครจะนึกครับ ว่าทันทีที่ RCEP มีผลบังคับใช้ สินค้าจากไทยไปสู่ประเทศเหล่านี้มีภาษี 0% ทันที 2.9 หมื่นรายการ
นี่เป็นข่าวดีรับปีใหม่ ทว่าข่าวดีจะเป็นข่าวดีของจริง เมื่อภาครัฐและเอกชนรู้รายละเอียดแล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com