• ทางการจีนอยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของสตรี เพื่อให้ผู้หญิงได้รับการปกป้องมากขึ้นจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ และการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน
  • ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่จะห้ามนายจ้างจำกัดพนักงานหญิงจากการแต่งงานหรือมีบุตร หรือให้ความสำคัญกับการเลื่อนตำแหน่งของเพศชายมากกว่าเพศหญิง
  • ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามของภาครัฐ ที่จะยับยั้งกระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ และขบวนการ #MeToo

คณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติจีน อยู่ระหว่างพิจารณาร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของสตรี เพื่อให้ผู้หญิงได้รับการปกป้องมากขึ้นจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ และการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ยกเครื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิผู้หญิงใหม่ทั้งหมด หลังจากใช้กฎหมายเดิมมานานเกือบ 30 ปี ซึ่งนับเป็นข่าวดีของผู้หญิงชาวจีน ที่มักจะอยู่ในสถานะที่ต้องเป็นรอง และด้อยกว่าเพศชายอยู่เสมอ

รายงานประจำปีของ World Economic Forum จัดอันดับให้จีนอยู่ในอันดับที่ 107 จาก 153 ประเทศทั่วโลก ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยผู้ชายมักจะได้ครองตำแหน่งระดับสูงทั้งในแวดวงการเมืองและภาคธุรกิจ ขณะที่ในรัฐสภามีผู้หญิงคิดเป็นอัตราส่วนเพียง 1 ใน 4 และมีผู้หญิงเพียงคนเดียวในโปลิตบูโร 25 คนเท่านั้น

...

ภายใต้กฎหมายใหม่นี้จะทำให้นายจ้างไม่มีสิทธิที่จะถามผู้สมัครงานที่เป็นเพศหญิงว่า พวกเธอวางแผนจะแต่งงาน หรือตั้งครรภ์หรือไม่ รวมทั้งไม่สามารถบังคับให้ผู้สมัครไปตรวจการตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้กฎหมายฉบับใหม่ยังห้ามนายจ้างจำกัดพนักงานหญิงจากการแต่งงานหรือมีบุตร หรือให้ความสำคัญกับการเลื่อนตำแหน่งของเพศชายมากกว่าเพศหญิงอย่างชัดเจน

จากข้อมูลของ ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า มีผู้สมัครงานหญิงจำนวนมากที่ให้รายละเอียดในโลกโซเชียลมีเดีย และในศาล เกี่ยวกับการเหยียดเพศในหลายแง่มุม โดยเฉพาะการบังคับให้เซ็นสัญญาห้ามตั้งท้อง ในขณะที่ยังได้รับการว่าจ้างให้ทำงานอยู่ และพบว่าการรับสมัครงานของหน่วยงานราชการของจีน ในปี 2019 มากถึง 1 ใน 3 จะระบุคุณสมบัติของผู้สมัครว่าต้องการผู้สมัครเพศชายมากกว่า

ร่างกฎหมายใหม่ยังครอบคลุมคุ้มครองไปถึง การแสดงออกทางวาจาที่มีความหมายแฝงทางเพศ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทางเพศ การแสดงรูปภาพทางเพศที่โจ่งแจ้ง หรือการเสนอผลประโยชน์เพื่อแลกกับความสัมพันธ์ หรือเพศ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ส่วนของสถาบันการศึกษา จะไม่สามารถปฏิเสธใบสมัครของผู้สมัครที่เป็นผู้หญิง หรือมีการลดคุณสมบัติของผู้สมัครชาย เพื่อที่จะได้ผู้สมัครครบตามจำนวนโควตาได้ ขณะที่ในพื้นที่ชนบท ผู้หญิงจะมีโอกาสได้รับการจ่ายค่าแรงที่เท่าเทียม รวมทั้งการแบ่งประโยชน์จากที่ดิน โดยระบุว่า ใครที่ละเมิดจะถูกดำเนินคดี

นอกจากนี้ผู้บัญญัติกฎหมาย ยังจะพิจารณาด้วยว่า อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการให้สิทธิผู้หญิงเลือกที่จะให้กำเนิดบุตรด้วยการผ่าคลอดได้ แม้ว่าสามีจะไม่อนุญาตก็ตาม เพราะทุกวันนี้บางโรงพยาบาลยังจะต้องให้สามี หรือญาติ เป็นผู้รับรอง หรืออนุญาตก่อนเท่านั้น

ปัจจุบัน การแบ่งแยกทางเพศเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในจีนอยู่แล้ว แต่กฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ยังมีความคลุมเครือ และไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ดังนั้นร่างกฎหมายที่มีการพิจารณาใหม่ จะมีการเพิ่มคำจำกัดความที่ชัดเจน และมีขอบเขตทางกฎหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ โดยผู้จ้างงานจะถูกสั่งให้สร้างกลไกในการป้องกัน สืบสวน และบริหารจัดการ หากมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน แม้จะยังไม่มีการกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายที่ชัดเจน หากผู้จ้างงานไม่ยอมปฏิบัติตามก็ตาม

...

และทั้งๆ ที่จีนยังคงมีการปราบปรามความเคลื่อนไหวของขบวนการ #MeToo ที่ลามมาจากชาติตะวันตก แต่จำนวนของผู้หญิงที่ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับประสบการณ์ที่พวกเธอถูกคุกคามทางเพศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่างจากเมื่อก่อนที่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ต่างปิดปากเงียบด้วยความอับอาย ขณะที่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่มอาลีบาบา กรุ๊ป เพิ่งมีการไล่ออกผู้หญิงรายหนึ่ง เนื่องจากหญิงรายนี้กล่าวหาว่าถูกผู้จัดการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่คนทั่วไปให้ความสนใจกันมาก

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางการจีนเพิ่งประกาศนโยบายใหม่ให้คู่สมรสสามารถมีลูกได้ 3 คน เพื่อเร่งแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงจนอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1978 ซึ่งนโยบายนี้ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันไปยังลูกจ้างที่เป็นผู้หญิงมากขึ้นอีก

เหอ ยี่ถิง เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคม ระบุว่า กฎหมายในการปกป้องสิทธิผู้หญิง และเรื่องที่เกี่ยวข้อง มีความจำเป็นเร่งด่วนในการที่จะปรับปรุงและเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่กฎหมายเพื่อผู้หญิงมากขึ้น

...

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามของจีนในการรักษาจำนวนแรงงาน ในขณะที่จำนวนประชากรกำลังลดลง รวมถึงพยายามที่จะหยุดกระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ และขบวนการ #MeToo ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านการคุกคามทางเพศ ที่เริ่มขึ้นในปี 2561 เมื่อนักศึกษาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่งกล่าวหาว่า ศาสตราจารย์ของเธอล่วงละเมิดทางเพศ

ร่างกฎหมายฉบับนี้คาดว่าจะถูกนำเข้าพิจารณาในสภาอีกอย่างน้อย 2 รอบ ก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมายในปีหน้า โดยคณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติจีนจะมีการพิจารณาทบทวนกฎหมายอื่นๆ อย่างกฎหมายที่กำกับดูแลบริษัทในจีนด้วย.

ผู้เขียน : อาจุมม่าโอปอล
ที่มา : เดอะการ์เดียน, บลูมเบิร์ก, แชนแนลนิวส์เอเชีย

...