“โลก” ถือเป็นดาวนพเคราะห์ดวงหนึ่งบนห้วงจักรวาลที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากที่สุด และก็เป็นเช่นนี้มานานตั้งไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปี

แต่...เดี๋ยวนี้ทุกสิ่งทุกอย่างชักเริ่มผิดเพี้ยน ร้อน-หนาว-ฝน รวมอยู่ในเดือนเดียวกันได้ก็มีคนหลายคนสัมผัสกันมาแล้ว ครั้นจะไปอ้างลัคนาทับซ้อนซ่อนเงื่อนจนเกิดอาเพศคงไม่ใช่ ลองมองในแง่ตรรกะถึงเหตุและผลแล้วก็จะเจอคำตอบได้ไม่ยาก

อย่างที่คณะกรรมการทั้ง 45 ท่านในกลุ่มประเมินผลกระทบเชิงนิเวศแห่งสหัสวรรษใหม่ นั่งรับฟังการศึกษาค้นคว้าของกูรู 1,360 คน จาก 95 ชาติ ซึ่งรวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และอีกหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์สากลโลก

ทั้งหมดนี้สรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นนี่เองคือต้นตอให้เกิดมลพิษต่อระบบสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ไล่กันตั้งแต่อากาศบริสุทธิ์ไปจนถึงน้ำสะอาด...หรือเขียนให้เป็นภาษาชาวบ้าน หมายถึง มนุษย์เกิดมาเพื่อทำลาย

ไปอยู่ที่ไหน การบริโภคก็เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว ยิ่งคนเยอะ ยิ่งบริโภคเยอะ

เท่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพธรรมชาติมีแต่เละเทะลง เละเทะลง และเละเทะลง จนเป็นที่น่ากังวลอดห่วงอนาคตของลูกหลานไม่ได้

ดังเช่นหลักฐานชิ้นล่าสุดเผยให้เห็นว่า ทะเลสาบเทรท เลค ในแอฟริกา เริ่มร้อนขึ้นเพราะอุณหภูมิโลกแปรเปลี่ยน ซึ่งเป็นภาวะที่ง่ายต่อการแพร่ระบาดของโรคห่า หรืออหิวาตกโรค

และสารไนโตรเจนในปุ๋ยเคมีที่ใช้กันตามท้องทุ่งเกษตรแล้วซึมลงดินชะไหลลงสู่ท้องทะเลนั้นก็จะไปกระตุ้นให้สาหร่ายทะเลเบ่งบานจนไปบดบังแสงอาทิตย์ให้ลอดลงใต้ทะเลไม่ได้ ก๊าซออกซิเจนตามแนวชายฝั่งก็เลยเสียสมดุล ทำให้ฝูงปลาหายใจไม่ออก ส่วนพื้นที่ใดที่มีการตัดไม้ทำลายป่าก็จะเห็นได้ว่าฝนเริ่มทิ้งช่วง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือตกลงมาพื้นดินก็ไม่มีต้นไม้ไว้อุ้มน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน

...

นี่ยกมาเพียงน้ำจิ้ม แต่ลองนับถัดไปอีก 50 ปีสิ สภาพของโลกกลมๆ ใบนี้จะมีหน้าตายังไง หลายฝ่ายเริ่มฉุกคิดและเร่งหาทางไม่ให้ฝันร้ายกลายเป็นจริง ด้วยการคิดโครงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ต้องให้ธรรมชาติลงโทษกี่ครั้ง มนุษย์ถึงหลาบจำ เป็นคำถามที่หาคำตอบได้...เริ่มที่ตัวเอง.

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ