องค์กรจัดการลงทุนระดับโลกหลายแห่งวิเคราะห์ว่า พ.ศ.2565 เศรษฐกิจจะช่วยขับเคลื่อนโลก นักวิเคราะห์หลายคนยอมรับว่า จีนจะเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกในอีก 10-20 ปีข้างหน้า การศึกษาเรื่องจีนไม่ได้จำกัดอยู่แค่การกระดิกพลิกตัวของจีนในปัจจุบัน จะเห็นว่ามีการศึกษากันเริ่มตั้งแต่ผู้นำจีนรุ่น 3 เจียงเจ๋อหมิน รุ่น 4 หูจิ่นเทา และรุ่น 5 สีจิ้นผิง โดยศึกษากระบวนการคัดคนมาเป็นผู้นำประเทศที่มีประชากรมากกว่าพันล้านคน ว่าพัฒนากันอย่างไร จึงฉุดประเทศขึ้นมาเป็นเขตเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกได้

เจียงเจ๋อหมินปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและคิดว่าถ้าจีนจะพุ่งไปข้างหน้า จะต้องให้โลกเข้าใจจีนจากข่าวที่จีนผลิตเอง ไม่ใช่จากที่นักเขียนตะวันตกวิเคราะห์จีนเพียงอย่างเดียว ตอนที่เป็นนายกเทศมนตรีนครซ่างไห่ เจียงเจ๋อหมินให้สร้างศูนย์สารสนเทศที่มหาวิทยาลัยเจียวถงเพื่อผลิตรายการโทรทัศน์และข่าวภาคภาษาอังกฤษ เมื่อโลกภายนอกเข้าใจจีนบ้างแล้ว เจียงก็เชิญอาคันตุกะจากต่างประเทศมาเยือนนครซ่างไห่

ความสำเร็จของเจียงไม่ใช่อยู่แค่นครซ่างไห่ เจียงยังพัฒนาเมืองจางเจียกัง ที่อยู่ริมทะเลห่างจากซ่างไห่ไป 3 ชั่วโมง เพื่อให้เป็นเมืองตัวอย่างทั้งด้านความสะอาดและความมีระเบียบ ตอนที่มีการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินที่กรุงปักกิ่งเมื่อ พ.ศ.2532 จ้าวจื่อหยางมีท่าทีประนีประนอมกับผู้ประท้วง จึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง เจียงได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และต้องย้ายไปอยู่กรุงปักกิ่ง เป็นเลขาธิการพรรคได้เพียง 2 เดือน เติ้งเสี่ยวผิงก็ลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมาธิการทหาร ด้วยสาเหตุการปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

การลาออกของเติ้งทำให้การผลัดเปลี่ยนตำแหน่งจากผู้นำรุ่น 2 ไปเป็นผู้นำรุ่น 3 เกิดขึ้นสมบูรณ์ เพราะเจียงคุมตำแหน่งสำคัญไว้ทั้งหมด เป็นทั้งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานคณะกรรมาธิการทหาร ตอนหลังได้เป็นประธานพรรคและเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่นั้นมาเจียงก็ปฏิรูปเศรษฐกิจตามแผนของเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่าด้วยแผนการตลาดในระบบสังคมนิยม ซึ่งในตอนนั้นพวกตะวันตกหัวเราะกันจนงอหาย โลกภายนอกคิดว่าสิ่งที่เจียงปฏิรูปนั้นเป็นเรื่องตลกและไม่มีทางสำเร็จอย่างแน่นอน

...

แต่ผิดคาด เจียงปฏิรูปกิจการของรัฐจนได้กำไร ลดการฉ้อราษฎร์บังหลวง สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจจนกิจการของรัฐสามารถล้างหนี้ของธนาคารได้ ในยุคของเจียงนี่เองครับ ที่จีนรับมอบเกาะฮ่องกงจากอังกฤษ และได้รับมาเก๊าคืนจากโปรตุเกส (พ.ศ.2540) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เติ้งเสี่ยวผิงถึงแก่อสัญกรรม การอสัญกรรมของเติ้งทำให้ตะวันตกไชโยโห่ฮิ้ว คิดว่าจีนคงจะเดินไปได้อย่างไม่มั่นคง ทว่าผิดคาด การทำงานหนักของเจียงและ ผู้ช่วยด้านพัฒนาเศรษฐกิจ (จูหรงจี) ทำให้เศรษฐกิจจีนเจริญมาก

เจียงใช้โทรทัศน์เป็นสื่อขยายภาพลักษณ์ ในสมัยนั้น หนังสือพิมพ์ People’s Daily และโทรทัศน์ CCTV เสนอแต่ข่าวของเจียง ในยุครัฐบาลนี้ ตะวันตกเข้าไปสนับสนุนพวกฟาหลุนกงให้มาป่วนจีน ที่ตะวันตกเข้ามาป่วนจีนได้ เพราะพวกฟาหลุนกงมีสมาชิกอยู่ทั่วโลกกว่า 100 ล้านคนใน 80 ประเทศ ตะวันตกจึงใช้ลัทธินี้เป็นตัวเจาะเข้ามาทำลายสังคมจีน

ฟาหลุนกงทำให้การบริหารของเจียงเกือบล้มเหลว สุดท้ายเจียงก็ยอมให้พวกตะวันตกและขบวนการสิทธิมนุษยชนประณามด้วยการสั่งปราบฟาหลุนกงอย่างรุนแรง ทั้งทุบตี ทรมาน จับขัง บังคับให้ทำงานหนัก ฯลฯ สหรัฐฯนำเรื่องนี้มาประกาศว่า จีนเป็นชาติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่สุดในโลก สหรัฐฯอยู่เบื้องหลังของการให้มีการฟ้องร้องเจียงกว่า 60 คดีใน 30 ประเทศ ข้อหาประกอบอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ กรณีปราบปรามฟาหลุนกงในจีน

หมดเติ้งเสี่ยวผิงแล้ว ตะวันตกก็รุกจีนหนักกะให้จีนแตกเป็นประเทศเล็กชาติน้อยก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีการทุ่มทุนไปที่ขบวนการทิเบตอิสระ ปีเดียวกันนั้น สหรัฐฯก็เล่นบทสองหน้ากับจีน เล่นสองหน้ายังไง พรุ่งนี้มาว่ากันต่อครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com