ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนทั่วโลกต้องช็อกกับเหตุการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน การดำเนินชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่วิธีการบริหารจัดการธุรกิจต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่ในแง่มุมหนึ่งวิกฤติการระบาดของเชื้อโรคร้ายยังเป็นแรงผลักดันให้ผู้คน หรือหน่วยงานต่างๆ คิดค้นนวัตกรรมหรือมองหาวิธีและแนวทางใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อความอยู่รอด
อย่างที่เกาหลีใต้ที่ขณะนี้มีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง ได้ประกาศใช้เทคโนโลยีเพื่อติดตามผู้ที่เคยติดโควิด-19 หวังลดการระบาด ใน “โครงการนำร่อง” ที่เตรียมดำเนินการในเดือน ม.ค.ปี 2565 เพื่อ “ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อโควิด-19” ที่เมือง “บูชอน” หนึ่งในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของประเทศ ในเขตชานเมือง ใกล้กรุงโซล โดยจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) และเทคโนโลยีระบบการตรวจจับและจดจำใบหน้าเพื่อวิเคราะห์ภาพที่รวบรวมโดยกล้องวงจรปิดมากกว่า 10,820 ตัว เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อ ผู้ที่มีการสัมผัสใกล้ชิด รวมทั้งตรวจสอบว่ามีการสวมหน้ากากหรือไม่ แม้จะมีความกังวลและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงการรุกล้ำของความเป็นส่วนตัว
เจ้าหน้าที่ของบูชอนกล่าวว่า ระบบดังกล่าวมีไว้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของทีมทำงานติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อเท่านั้น โดยจะสามารถติดตามได้มากถึง 10 คนพร้อมกันในช่วงเวลาเพียง 5-10 นาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลาราวครึ่ง - หนึ่งชั่วโมง ในการติดตามเพียง 1 คน ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำยิ่งขึ้น ขณะที่ยังย้ำว่าไม่มีประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวที่ต้องกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากระบบจะติดตามผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันตามพระราชบัญญัติควบคุมและป้องกันโรคติดต่อเท่านั้น ไม่มีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะรั่วไหลหรือการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว
...
อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ไม่ใช่ประเทศแรกในโลกที่ริเริ่มโครงการในลักษณะนี้ รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกหันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการสอดส่องเพื่อพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของ ไวรัส ไม่ว่าจะเป็น จีน รัสเซีย อินเดีย โปแลนด์ และญี่ปุ่น รวมถึง บางรัฐของสหรัฐฯ ที่เริ่มเปิดตัวหรืออย่างน้อยก็เริ่มทดลองระบบตรวจจับใบหน้าเพื่อติดตามผู้ป่วยโควิด-19 แล้วเช่นกัน.
อมรดา พงศ์อุทัย