- รัสเซียเคลื่อนกำลังทหารและยุทโธปกรณ์ไปประชิดชายแดนยูเครน จนชาติตะวันตกกังวลอย่างหนักว่าแดนหมีขาวกำลังเตรียมการเพื่อบุกยูเครน
- ความกังวลพุ่งสูงขึ้นถึงขั้นที่ โจ ไบเดน กับ วลาดิเมียร์ ปูติน ต้องจัดประชุมด่วนทางวิดีโอคอล ซึ่งสหรัฐฯ เตือนจะมีการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ หากรัสเซียตัดสินใจยกทัพบุกยูเครน
- ฝ่ายรัสเซียยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้วางแผนโจมตียูเครน แต่ไม่ต้องการให้สหรัฐฯ กับนาโตล้ำเส้นแดง คือการขยายอิทธิพลมายังยุโรปตะวันออกมากขึ้น
การเคลื่อนไหวของทหารและยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ของรัสเซียในพื้นที่ใกล้ชายแดนฝั่งตะวันตก กำลังสร้างความกังวลอย่างหนักให้กับยูเครนและพันธมิตรตะวันตกของพวกเขา ว่าประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน จะออกคำสั่งส่งกองทัพบุกรุกประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้หรือไม่
โฆษกรัฐบาลเครมลินอย่าง ดีมิทรี เปสคอฟ ออกมาบอกว่าความกังวลของชาติตะวันตกเป็นการ วิตกจริตไปเอง และรัสเซียก็ยืนยันว่าไม่มีแผนการบุกรุกยูเครน แต่เมื่อปี 2557 มีทหารไม่ปรากฏสัญชาติกลุ่มหนึ่งถูกส่งเข้าแคว้นไครเมียของยูเครน ซึ่งตอนแรกปูตินก็ปฏิเสธว่าไม่ใช่ทหารของพวกเขา ก่อนที่รัสเซียจะยึดการควบคุมและควบรวมแคว้นไครเมียไปเป็นของตัวเอง
ความกังวลที่เกิดขึ้นมากถึงขั้นทำให้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับผู้นำรัสเซีย จัดการประชุมด่วนร่วมกันผ่านวิดีโอคอลเมื่อวันอังคาร (7 ธ.ค. 2564) เพื่อเตือนว่า รัสเซียจะเผชิญมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ หากแดนหมีขาวตัดสินใจยกทัพบุกยูเครน
สถานการณ์ในปัจจุบันเรียกได้ว่ากำลังคุกรุ่น แต่รัสเซียกำลังวางแผนบุกยูเครนจริงหรือไม่ อะไรคือสัญญาณให้ชาติตะวันตกคิดเช่นนั้น และเป้าหมายจริงๆ ของรัสเซียคืออะไรกันแน่?
...
ปัญหาระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน
ยูเครนมีพรมแดนติดต่อกับทั้งสหภาพยุโรปกับรัสเซีย แต่ชาติอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตแห่งนี้ มีความสัมพันธ์กับรัสเซียลึกซึ้งกว่าทั้งในด้านสังคมและวัฒนธรรม และภาษารัสเซียก็ถูกใช้ในประเทศอย่างกว้างขวาง
แต่ยูเครนเริ่มเอนเอียงเข้าหายุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วงปลายปี 2556 ความตึงเครียดของทั้งสองฝ่ายก็พุ่งกระฉูด หลังยูเครนทำข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป ทว่าการเจรจากลับถูกหยุดโดยรัฐบาลหนุนรัสเซียของประธานาธิบดี วิคเตอร์ ยานูโควิช ทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงเคียฟ
จากนั้นในเดือนมีนาคม 2557 รัสเซียก็ควบรวมแคว้นไครเมีย ดินแดนปกครองตนเองทางใต้ของยูเครน ซึ่งฝักฝ่ายรัสเซียอย่างรุนแรง อ้างว่าทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่พูดภาษารัสเซีย โดยเริ่มจากการส่งกองทหารที่ถูกเรียกว่า ‘ทหารเขียวตัวน้อย’ (little green men) ซึ่งรัสเซียยอมรับในภายหลังว่าเป็นทหารของพวกเขา เข้าสู่ไครเมีย ก่อนจะควบรวมไครเมียโดยสมบูรณ์ภายในเวลาไม่กี่วัน ด้วยการลงคะแนนเสียงประชามติ
ต่อมาไม่นาน กลุ่มแบ่งแยกดินแดนฝักฝ่ายรัสเซียในแคว้นโดเนตสก์ และลูฮานสก์ ทางตะวันออกของยูเครนและติดชายแดนรัสเซีย ซึ่งเรียกกันว่าภูมิภาค ‘ดอนบาส’ (Donbas) ก็ลุกฮือประกาศแยกตัวจากยูเครน ทำให้เกิดการสู้รบกันอย่างหนักระหว่างกองทัพรัฐบาลกับฝ่ายกบฏนานหลายเดือน จนกระทั่งมีการทำข้อตกลงหยุดยิงในปี 2558 แต่ก็ยังมีการยิงกันประปรายเรื่อยมา
รัสเซียจะบุกยูเครน?
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ กับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า มีความเคลื่อนไหวและการรวมตัวกันของทหารมากผิดปกติทั้งในและโดยรอบยูเครน
ภาพถ่ายดาวเทียมที่เปิดเผยเมื่อเดือนพฤศจิกายน แสดงให้เห็นว่ารัสเซียเคลื่อนยุทโธปกรณ์กองทัพต่างๆ รวมทั้ง ปืนใหญ่อัตตาจร, รถถัง และยานพาหนะต่อสู้ภาคพื้น ไปยังลานฝึกซึ่งห่างจากชายแดนยูเครนเพียง 300 กม. และมีทหารเคลื่อนไหวอยู่ใกล้ชายแดนกว่า 90,000 นาย ขณะเดียวกัน ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครนก็มีทหารรัสเซียไปปรากฏตัวอยู่ด้วย
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณว่ารัสเซียจะยกทัพบุกยูเครนในทันที หรือข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจเรื่องการบุกโจมตีแล้ว แต่หน่วยข่าวกรองของชาติตะวันตกรวมทั้งของยูเครน คาดว่า การโจมตีอาจเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2565 และอาจมีทหารรัสเซียเข้าร่วมกว่า 175,000 นาย
ส่วนนายโอเลคซีย์ เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครนเชื่อว่า รัสเซียอาจเริ่มสำหรับการรุกรานในช่วงสิ้นเดือนมกราคม
...
เป้าหมายของรัสเซีย
รัฐบาลเครมลินย้ำมาตลอดว่าพวกเขาไม่ได้มีแผนบุกรุกยูเครน อย่างไรก็ตาม รัสเซียมองว่า การที่ยูเครนได้รับการสนับสนุนจากนาโตมากขึ้น ในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์, การฝึกทหารและกำลังพล เป็นภัยคุกคาม ซึ่งพวกเขาเคยกล่าวหายูเครนว่ากำลังเสริมสร้างกำลังทหารเพื่อเตรียมยึดภูมิภาคดอนบาสคืน แต่ยูเครนปฏิเสธ
ประธานาธิบดีปูตินยังเรียกร้องให้ให้มีการทำข้อตกลงทางกฎหมายอย่างเฉพาะเจาะจง ไม่ให้ชาติตะวันตกข้าม ‘เส้นแดง’ คือหยุดการขยายอิทธิพลของนาโตมายังยุโรปตะวันออก รวมทั้งการส่งอาวุธไปประจำการตามประเทศต่างๆ ที่อาจเป็นภัยต่อรัสเซีย โดยเฉพาะที่ยูเครนซึ่งได้รับอาวุธจากนาโตไปมากมาย
นายดีมิทรี เปสคอฟ กล่าวในเดือนพฤศจิกายนว่า สหรัฐฯ และชาติสมาชิกนาโตอื่นๆ ส่งที่ปรึกษาด้านอาวุธและการทหารหลายคนไปช่วยยูเครนแล้ว และนี่ทำให้สถานการณ์บริเวณชายแดนเลวร้ายลง ขณะที่นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศแดนหมีขาว ขู่ว่า หากสหรัฐฯ กับนาโต ไม่เปลี่ยนนโยบายยูเครน มอสโกก็มีสิทธิ์เลือกหนทางที่รับประกันผลประโยชน์ทางความมั่นคงของประเทศ
...
ชาติตะวันตกไม่คิดใช้ทหารแม้รัสเซียบุกยูเครน
สหรัฐฯ ยืนยันว่าพวกเขาจะช่วยปกป้องอธิปไตยของยูเครน แต่ประธานาธิบดี ไบเดน ก็แสดงออกค่อนข้างชัดเจนว่า การใช้ทหารในกรณีที่รัสเซียบุกโจมตีนั้น ไม่รวมอยู่ในตัวเลือก โดยอาวุธหนักที่สุดที่พวกเขาจะใช้คือ การคว่ำบาตร ซึ่งไบเดนบอกกับปูตินตอนประชุมด่วนเมื่อวันอังคารว่า สหรัฐฯ จะใช้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรง และจะให้การสนับสนุนกองทัพยูเครน
ส่วนนางวิคกี ฟอร์ด รัฐมนตรีประจำสำนักงานกิจการต่างประเทศ, เครือจักรภพ และการพัฒนา ของสหราชอาณาจักร ก็ระบุเช่นกันว่า รัฐบาลอังกฤษกำลังพิจารณาเพิ่มการสนับสนุนด้านการป้องกัน
นอกจากนี้ ชาติตะวันตกยังมีอาวุธทางเศรษฐกิจอีกหลายอย่างที่อาจสามารถป้องปรามไม่ให้รัสเซียยกทัพบุกยูเครนได้ เช่น การขู่ตัดระบบธนาคารรัสเซียออกจากระบบจ่ายเงินระหว่างประเทศที่เรียกว่า ‘Swift’ ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวเลือกสุดท้าย หรือขัดขวางการเปิดท่อส่งน้ำมัน ‘นอร์ด สตรีม 2’ ในเยอรมนี ซึ่งอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้นั้น ต้องติดตามกันต่อไป
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : BBC , CNN
...