คำพิพากษาศาลพม่า สั่งจำคุกอองซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลประชาธิปไตยเป็นเวลา 4 ปี ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย และทำผิดกฎหมายป้องกันโควิด-19 เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในประเทศเผด็จการที่ชอบใช้อำนาจศาลเตี้ย เพื่อเล่นงานฝ่ายประชาธิปไตย ในข้อหาที่พิสดาร
ไม่มีใครรู้รายละเอียดของข้อกล่าวหา รู้แต่ว่าข้อหายุยงปลุกปั่นมาจากการที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ออกแถลงการณ์ประณามการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนข้อหาเรื่องโควิด นัยว่าเกี่ยวข้องกับชัยชนะท่วมท้นของพรรคเอ็นแอลดีในการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2563
ปฏิบัติการของรัฐบาลทหารพม่าครั้งนี้ มีเสียงประณามจากทั่วโลก ทั้งจากภาครัฐและองค์กรสิทธิมนุษยชน เช่นรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ และองค์กรรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน บางองค์กรประณามว่าเป็นคำพิพากษาที่ตลก และเลวทราม เป็นการลงโทษแบบเผด็จการ
แถลงการณ์ของรัฐสภาอาเซียนฯ เรียกร้องให้อาเซียนต่อต้านการยึดอำนาจโดยมิชอบ และขอให้อาเซียนห้ามผู้แทนกองทัพพม่าเข้าร่วมเวทีอาเซียน และห้ามนายพลพม่าเดินทางในภูมิภาค เป็นข้อเรียกร้องที่สวนทางกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ซึ่งประกาศว่าจะเชิญนายพลมิน อ่อง หล่าย ร่วมประชุมอาเซียน
สมเด็จฮุน เซน เป็นประธานอาเซียนคนใหม่ จึงมีอำนาจที่จะพูดในนามอาเซียน แต่น่าสงสัยว่าจะมีอำนาจเชิญผู้นำเผด็จการพม่า ร่วมประชุมอาเซียนหรือไม่ เพราะอาเซียนเคยมีมติเป็นทางการ ไม่เชิญผู้นำพม่าเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ตั้งแต่เดือนตุลาคม เพราะไม่พอใจที่ไม่ทำตามมติของกลุ่มอาเซียน
ประเด็นนี้จะเป็นชนวนของความ ขัดแย้งหรือความแตกแยกครั้งใหม่ในอาเซียนหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรงต้องถือว่าคำพิพากษาศาลพม่า เป็นบทเรียนเตือนสติ มิให้ไทยถลำตัวเอาแบบอย่างพม่าทั้งในด้านการเมือง และการยุติธรรมไทยต้องมุ่งมั่นดำรงประชาธิปไตย
...
ในการทบทวนปัญหาสิทธิมนุษยชนของไทย โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ประเทศสมาชิกยูเอ็นหลายประเทศ วิพากษ์ไทยเรื่องการให้พลเรือนขึ้นศาลทหารในบางช่วงเวลา และใช้กฎหมายล้นเกินเพื่อจับกุมคุมขังกลุ่มผู้ชุมนุม เช่นใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นหลัก และใช้ ม.112 เป็นครั้งคราว.